Kind Academy

บรรณารักษ์บนหลังม้า: ผู้พิทักษ์การศึกษา ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่


ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ธุรกิจทยอยปิดตัว ผู้คนว่างงาน ผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนเชื่อมโยงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ความคิดที่ว่าจะรอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเยียวยาพวกเราในกรณีฉุกเฉินน่ะ มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราหวังพึ่งได้ แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ เราคงต้องพึ่งตัวเองกันไปก่อน” นักสังคมวิทยาผู้หนึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ พังทลายนานนับทศวรรษ


“แต่การออกนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน โดยสร้าง ‘ตำแหน่งงานพิเศษ’ ขึ้นมาก็สามารถซื้อใจประชาชนได้ไม่น้อย”

แล้ว “ตำแหน่งงานพิเศษ” ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จะมีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าพร้อมออกเดินทางแล้ว เตรียมจับบังเหียนไว้ให้มั่น KiNd Academy จะพาคุณควบม้าบุกตะบันไปในเส้นทางสุดโหด พร้อมกับเหล่าบรรณารักษ์สาวสุดแกร่งแห่งรัฐเคนตักกี!


หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเซอเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษที่เข้ามาดูแลเรื่องปัญหาการว่างงานของประชาชนโดยเฉพาะ โดยไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้แข็งแกร่งเท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญต่อศิลปะวัฒนธรรม งานวรรณกรรม และการศึกษาของประชาชนในประเทศอีกด้วย

โครงการห้องสมุดบนหลังม้า (Pack Horse Library Initiative) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1933 เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง โดยเฉพาะในเขตแอปปาลาเซีย (Appalachia)

Book Women
●●●

เมื่อเอ่ยถึง “บรรณารักษ์บนหลังม้า” ชาวบ้านในรัฐเคนตักกีดูเหมือนจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อปี ค.ศ. 1913 เคยมีโครงการนี้เกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ต้องปิดตัวลงไปภายในเวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น เนื่องจากขาดทุนสนับสนุน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1933 ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเซอเวลต์ ได้หยิบโครงการนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งความคิดริเริ่มนี้ช่วยให้ชาวบ้านสามารถหลุดพ้นจากช่วงเวลาอันยากลำบาก และสามารถเรียนรู้หนังสือได้ในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่ทำให้โครงการห้องสมุดบนหลังม้าพิเศษและแตกต่างจากโครงการอื่นคือ คนที่ได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เหล่าบรรณารักษ์บนหลังม้าจึงได้รับฉายาว่า “Book Women” นับแต่นั้นมา

เดินทางนับร้อยไมล์
●●●

จากอัตราการว่างงานที่สูงถึง 40% ของผู้คนในเขตแอปปาลาเซีย และอีกประมาณ 30% ไม่รู้หนังสือ ผู้คนจำนวนมากจึงสมัครงานในตำแหน่งบรรณารักษ์บนหลังม้า เพื่อส่งต่อความรู้ผ่านหนังสือที่พวกเธอนำติดกระเป๋าไปด้วยเสมอ

“หนังสือที่คุณนำมา ช่วยชีวิตพวกเราไว้” หนึ่งในเสียงตอบรับที่มักได้ยินเสมอเมื่อเดินทางไปยังเขตพื้นที่ทุรกันดาร


สำหรับหน้าที่และค่าตอบแทนที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้รับคือ 28 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 875 บาท เทียบเท่ากับ 15,500 บาทในปัจจุบัน) ซึ่งต้องแลกกับการเดินทางไกลนับร้อยไมล์ต่อสัปดาห์ (เกือบสองร้อยกิโลเมตร) ผ่านเส้นทางที่ยากลำบาก ทั้งภูเขา แม่น้ำ ป่ารกชัฎ และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

แม้การเดินทางจะยากลำบากเพียงใด แต่ความพยายามของเหล่าบรรณารักษ์ ได้จุดประกายความหวังและความฝันให้แก่ผู้คนจำนวนมาก เพราะแม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในรัฐที่ยากจนที่สุดในสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลก็ยังคงดูแลพวกเขาอย่างทั่วถึง


งานของบรรณารักษ์บนหลังม้าไม่ใช่แค่การส่งหนังสือไปให้คนในพื้นที่ทุรกันดารได้อ่านเท่านั้น แต่ยังมีการเปิดรับบริจาคหนังสือ รวมถึงการตีพิมพ์และผลิตสื่อนิตยสารต่าง ๆ เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการ หากหนังสือได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ห้องสมุดเคลื่อนที่จะทำการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพดีที่สุดก่อนจะส่งต่อไปยังผู้อ่านหน้าใหม่ และเพื่อเป็นการถนอมหนังสือจากผู้อ่านนับแสนราย พวกเธอจึงได้คิดค้นสารพัดวิธีในการถนอมหนังสือ หนึ่งในนั้นคือการนำการ์ดคริสต์มาสมาทำเป็นที่คั่น เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อ่านพับกระดาษตรงมุมหนังสือและยังคงสามารถส่งต่อไปยังผู้คนในพื้นที่อื่นต่อไป


คนแปลกหน้า
●●●

แม้ในช่วงแรกของการออกปฏิบัติหน้าที่จะสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่ด้วยจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์หนังสือ เหล่า Book Women ก็สามารถฝ่าด่านคำสบประมาทของชาวบ้านไปได้ นอกจากนี้อีกหนึ่งหน้าที่ที่พวกเธอได้รับมาเป็นภารกิจพิเศษในระหว่างการนำหนังสือมาส่งคือ การรับบทบาทเป็นคุณครูจำเป็น


เนื่องจากชาวบ้านบนภูเขาไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ พวกเธอจึงทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้เด็ก ๆ และความทุ่มเทของเหล่าเจ้าหน้าที่ก็เห็นผล เมื่อชาวบ้านเริ่มอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอสตรีขี่ม้า (บางทีก็ล่อ) ในทุกสุดสัปดาห์

สิ้นปี ค.ศ. 1938 เวลาห้าปีที่ห้องสมุดแห่งนี้เปิดดำเนินการ ได้สร้างงานให้แก่สตรีอเมริกัน นับพันราย และเจ้าหน้าที่จำนวน 274 ราย ได้เดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลได้ถึง 29 มณฑล ความพยายามของพวกเธอส่งผลให้อัตราการรู้หนังสือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีจุดเริ่มต้นย่อมต้องมีจุดสิ้นสุด โครงการห้องสมุดบนหลังม้าปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1943 เนื่องจากเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อัตราการว่างงานลดลงในรอบสิบปี


ท้ายที่สุดแล้ว ผลงานของเหล่าบรรณารักษ์บนหลังม้า ก็กลายเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพวกเธอคือ “ฮีโร่” ที่ไม่จำเป็นต้องมีผ้าคลุมหรือสะพายดาบเล่มโตก็สามารถช่วยชีวิตผู้คนนับแสนราย ให้รอดพ้นจากช่วงเวลาอันมืดมิดที่สุดของสหรัฐอเมริกา

เพราะการศึกษา คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนโลกของทุกคนได้ตลอดกาล

“The books you brought us has saved our lives.”


ที่มา


เรื่อง โดย