16 ปีแห่งความหลัง… กับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลายคนยากจะลืมเลือน
เมื่อจู่ ๆ น้ำทะเลกลับเหือดหายลงไปและปรากฏเป็นกำแพงคลื่นสูงใหญ่ถาโถมเข้าใส่ผู้คน คลื่น “สึนามิ” ขนาดมหึมาที่พัดถล่มเข้ามายังบริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 สำหรับหลายคนเหตุการณ์ครั้งก่อนยังคงเป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือน แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางธรรมชาติที่ทำให้เราทุกคนได้เรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่เราไม่อาจหยั่งรู้ว่าจะเกิดอีกเมื่อใด
วันนี้ KiNd พาทุกคนย้อนประวัติศาสตร์ไปทำความรู้จักกับเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบในระดับรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกาลทั่วโลก
สึนามิ (Tsunami) เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า “Tsu” หมายถึง ท่าเรือ “Nami” หมายถึง คลื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นคลื่นยักษ์ที่มีความยาวคลื่นเป็นหลัก 100 กิโลเมตรขึ้นไป โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นผิวโลกใต้ทะเลในแนวดิ่งตรงรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทำให้เกิดรอยเลื่อน ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟและการระเบิดใต้น้ำ ดินถล่ม ธารน้ำแข็งไถล อุกกาบาตตก และการรบกวนอื่น ๆ ไม่ว่าเหนือหรือใต้น้ำ ล้วนอาจก่อให้เกิดเป็นคลื่นสึนามิได้ทั้งสิ้น และเมื่อคลื่นเคลื่อนที่เข้าใกล้ชายฝั่งความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตามสภาพภูมิลักษณ์ของชายฝั่งนั้น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์
แต่ก่อนกาลเมื่อประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว
เกาะทีรา ประเทศกรีซ
﹋
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้มีการกล่าวถึงคลื่นขนาดใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดในทะเลอีเจียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว (ในช่วงระหว่างปี 1,650 ถึง 1,600 ก่อนคริสต์ศักราช เวลาที่แน่นอนยังคงถกเถียงกันอยู่)
ในครั้งนั้นปรากฏว่า “ภูเขาไฟที่เกาะซานโตรินี” (Santorini) ซึ่งปัจจุบันเรียกชื่อว่า “เกาะทีรา” (Thira) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศกรีซเกิดการปะทุอย่างรุนแรง จนทำให้ตัวเกาะหายไปเกือบหมด และทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำสึนามิที่มีความสูงตั้งแต่ 100 ถึง 150 เมตร ซึ่งถาโถมเข้าถล่มชายฝั่งทางด้านเหนือของเกาะครีต (Crete) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 70 กิโลเมตร พร้อมกวาดทำลายต้นไม้ทุกต้นที่ขึ้นอยู่ในแนวป่ามิโนอันไปหมดในชั่วพริบตา ทั้งยังทำให้ผู้คนล้มตาย และอาคารบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก
นอกจากนี้ผลจากพิบัติภัยในครั้งนั้นทำให้วัฒนธรรมมิโนอา (Minoan Culture) ของกลุ่มชนโบราณ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะครีตต้องเสื่อมสลายลง และ การเกิดคลื่นใหญ่ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นการเกิดคลื่นสึนามิ ที่มีการบันทึกไว้เก่าแก่ที่สุด
ทั้งนี้มีการคาดกันว่าคลื่นใต้น้ำซานโตรินี คือแหล่งข้อมูลที่ทำให้เพลโต (Plato) เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรมเป็นนวนิยายดังเรื่องแอตแลนติส (Atlantis) และนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า คลื่นสึนามิซานโตรินี ที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือแหล่งที่มาสำคัญที่นำไปสู่การบันทึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทั้งของชาวยิว คริสเตียน และมุสลิม
ค.ศ. 1755
เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
﹋
Photo Credit: The Higgins Art Gallery & Museum, Bedford, BEDFM
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.5 ริกเตอร์ ชาวโปรตุเกสจำนวนหลายหมื่นคนรอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ลิสบอน แต่กลับต้องเสียชีวิตไปทันที ด้วยคลื่นสึนามิที่โถมเข้าทำลายหลังเกิดแผ่นดินไหวได้เพียงไม่กี่นาที เนื่องจากคนจำนวนมากหนีภัยแผ่นดินไหวออกไปยังแนวชายฝั่งทะเล ด้วยเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ก่อนที่สึนามิกำแพงน้ำที่สูงใหญ่ จะถาโถมเข้าถล่มท่าเรือบนชายฝั่งลิสบอน ส่งผลให้ประเทศโปรตุเกส สเปน และโมร็อกโก มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ประมาณ 60,000 คน
ค.ศ. 1883
เกาะกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย
﹋
Photo Credit: 71-1250, Houghton Library, Harvard University
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1883 เวลา 10.00 น. “ภูเขาไฟบนเกาะกรากะตัว” (Krakatoa) ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวา ในช่องแคบซุนดาของประเทศอินโดนีเซีย ได้เกิดการปะทุอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แรงระเบิดนั้นคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ โดยพื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะ กลายเป็นเถ้าธุลีลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร ในรัศมี 240 กิโลเมตร เถ้าธุลีเหล่านั้นได้บดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดทำให้ท้องฟ้าคล้ายกับเวลาตอนกลางคืน
นอกจากนี้ยังเกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 30 เมตร ซัดเข้าหาฝั่งเกาะสุมาตราและเกาะชวา ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 36,000 คน และหมู่บ้านตามชายฝั่งถูกทำลายเสียหายประมาณไปกว่า 165 แห่ง และครั้งนี้นับเป็นพิบัติภัยครั้งใหญ่ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด และคลื่นสึนามิ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก
ค.ศ. 1896
ชายฝั่งซันริคุ ประเทศญี่ปุ่น
﹋
Photo Credit: devastatingdisasters.com
วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1896 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ที่ชื่อ “เมจิ ซันริคุ” (Meiji Sanriku) พัดถล่มเข้าที่ชายฝั่งซันริคุ (Sanriku) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ขนาดความรุนแรงอยูที่ 8.5 ริกเตอร์ คลื่นสูงประมาณ 30 เมตร ขณะที่ชาวบ้านหลายคนกำลังเฉลิมฉลองให้กับสองเทศกาลคือ การกลับมาขอเหล่าทหารกล้าจากชัยชนะในสงครามกับจีน (สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง) และเทศกาลเด็กผู้ชาย หรือ Boy’s Festival (คือเทศกาลสำหรับเด็กผู้ชาย ครอบครัวไหนที่มีลูกชายก็จะจัดประดับตกแต่งบ้านด้วยตุ๊กตา นักรบซามูไรสวมชุดเกราะ เพื่อเป็นการอธิษฐาน ขอพรให้ลูกชายมีความแข็งแรงเหมือนนักรบ)
ขณะที่มีเฉลิมฉลองกับงานเทศกาลชาวบ้านสังเกตเห็นแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อยในช่วงก่อนหน้านี้หลายชั่วโมง ก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 26,000 คน และบ้านเรือนเสียหายประมาณ 9,000 หลัง
ค.ศ. 2004
เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
﹋
Photo Credit: U.S. Navy/Photographer’s Mate 2nd Class Philip A. McDanie
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2004 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ที่ระดับความลึกจากพื้นท้องทะเล 28.6 กิโลเมตร มีศูนย์กลางในทะเลนอกชายฝั่งด้านทิศตะวันตกตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และเกิดสึนามิตามมาในมหาสมุทรอินเดีย โดยเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย โซมาเลีย มัลดีฟส์ พม่า แทนซาเนีย บังคลาเทศ และเคนยา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน และสูญหายอีกหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในเมืองบันดาอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150,000 คน
สำหรับประเทศไทยมี 6 จังหวัดในฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบ คือ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทย และต่างชาติมากกว่า 5,395 คน และสูญหายมากกว่า 2,000 คน บาดเจ็บประมาณ 8,000 คน ส่วนอาคารบ้านเรือน โรงแรม ที่พักเสียหายยับเยิน และพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยได้รับผลกระทบมากกว่า 475,000 ไร่
ค.ศ. 2011
ชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น
﹋
Photo Credit: Reuters/Mainichi Shimbun
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เวลา 14.46 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงประมาณ 6 เมตรพัดถล่มชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮคุ ด้านตะวันออกของเกาะฮอนชู ได้แก่ ชายฝั่งเขตจังหวัดอิวาเตะ มิยางิ ฟุกุชิมะ โทจิงิ และอิบารากิ โดยสร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งสั่งอพยพประชาชนราว 300,000 คน รอบรัศมี 10 ถึง 20 กิโลเมตรจากโรงงานไฟฟ้า
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 15,844 คน สูญหาย 3,468 คน และบาดเจ็บ 5,364 คน ทั้งนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งประวัติศาสตร์ กว่าหนึ่งล้านหลังคาเรือนถูกทำลายหรือชำรุด สาธารณูปโภค อาทิ ถนน ทางรถไฟ ไฟฟ้า น้ำประปา ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
﹋
ปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่นำมากล่าวไว้ข้างต้นนี้ เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของการเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่เราหยิบยกขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังมีคลื่นสึนามิครั้งย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นอีกบ่อยครั้งในระยะเวลาต่าง ๆ
เมื่อภัยธรรมชาติย่างกรายเข้ามาเป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์ หรือในทางกลับกันมนุษย์นี่แหละที่เป็นผู้รุกล้ำล่วงเกินขอบเขตของธรรมชาติ แม้ว่าผลกระทบที่ได้รับนั้นจะร้ายแรงถึงขั้นคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ราวกับเป็นฝันร้ายในวันวานของเหล่ามวลมนุษยชาติ ทว่าก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิดอย่างลึกซึ้ง พร้อมตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า เราจะสามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างไรให้สมดุลที่สุด และจะรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นยามใดก็ได้… ได้อย่างไร?
ที่มา
- กรมทรัพยากรธรณี. www.dmr.go.th
- คลื่นสึนามิเกิดขึ้นครั้งแรก (ที่มีบันทึกไว้) คือเมื่อ 3,600 ปีก่อนที่ทะเลเมติเตอร์เรเนียน. www.silpa-mag.com/history/
- Japanese water forum. www.waterforum.jp
- Sanriku Earthquake and Tsunami – Japan – June 15, 1896. https://devastatingdisasters.com/sanriku-earthquake-and-tsunami-japan-june-15-1896/