เมื่อครั้งที่ Ermias Lulekal Molla นักชาติพันธุ์วิทยา เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ๆ เขาจำได้ว่าเคยเก็บสมุนไพร Dingetegna หรือ Taverniera Abyssinica ใกล้ ๆ กับแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ซึ่งในภาพความทรงจำของเขา เขาจำได้ว่า มักจะเห็นพุ่มไม้เตี้ย ๆ ขึ้นกระจัดกระจายพร้อมทั้งผลิดอกออกผลโดยมีดอกสีแดงแซมอยู่เต็มลำต้น
Molla กล่าวเสริมว่า นอกจากความงามที่พืชพันธุ์ได้มอบให้เราแล้ว รากของมันยังสามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดหัว ตัวร้อน และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้อีกด้วย
ปัจจุบันความอุดสมบูรณ์ของธรรมชาติที่อยู่ในความทรงจำของเขา ถูกแทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่อง พื้นที่ป่าที่เคยมีพืชพันธุ์หายากขึ้นอยู่ก็ถูกแผ้วถางเผาทำลายจนโล่งเตียน จากที่เขาเคยใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยวสมุนไพร Dingetegna ตอนนี้เขาต้องใช้เวลาสองถึงสามวันในการเข้าถึงพื้นที่ชนบทที่ยังไม่ถูกชีวิตคนเมืองเข้าแทรกแซง
“เราต้องช่วยกันอนุรักษ์พืชสมุนไพรเหล่านี้” Molla กล่าวกับสำนักข่าว Deutsche Welle (DW)
หากศึกษาลงลึกถึงความพิเศษของสมุนไพรตัวนี้ก็จะทราบว่า นอกจากคุณสมบัติที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว พุ่มสมุนไพรเหล่านี้ยังช่วยลดการกัดเซาะ และยังเป็นแหล่งกักเก็บหรือดูดซับก๊าซคาร์บอน (Carbon Sink) ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศอีกด้วย
Dingetegna เป็นหนึ่งในพืชและเชื้อราอย่างน้อย 60,000 ชนิดทั่วโลกที่รู้จักกันดีว่ามีคุณค่าทางยา นอกจากนี้ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาจำนวนพืชและเชื้อราที่ต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า คิดเป็น 40% ของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งสมุนไพร Dingetegna เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์ที่เขารู้จักในตอนนี้เท่านั้น
ภัยคุกคามครั้งใหญ่
Molla ในฐานะนักวิจัย และรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปียกล่าวว่า “หากไม่มีพืชสมุนไพรและเชื้อราเหล่านี้ ในอนาคตสุขภาพของมนุษย์อาจต้องตกอยู่ในความเสี่ยง”
ขณะที่ยาแผนปัจจุบันจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ส่วนใหญ่มีสารสกัดจากธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พืช จุลินทรีย์ และสัตว์ คิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 60-80% ของยาปฏิชีวนะและยาต้านมะเร็ง ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากสารประกอบทางเคมีที่พบอยู่ตามธรรมชาติทั้งสิ้น
Joao Calixto ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาวัยเกษียณ และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการทดสอบทางคลินิกที่ไม่แสวงหาผลกำไรในบราซิล (CIEnP) กล่าวว่า “ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์การพัฒนายาแผนปัจจุบันเกือบทุกแขนง ส่วนใหญ่ต้องขึ้นอยู่กับการศึกษาพืชสมุนไพรและจุลินทรีย์ โดยเฉพาะการผลิตสารต้านการติดเชื้อ”
Photo Credit: s.salvador Photo Credit: thairath.co.th
มอร์ฟีนและโคเดอีน เป็นยาระงับความเจ็บปวดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ ยาระงับความเจ็บปวดทั้งสองชนิดได้มาจากดอกป๊อปปี้ที่พบได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมียาแพคลิแทกเซล (Paclitaxel) หรือ Taxol ยาเคมีบำบัดที่ได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สกัดมาจากเปลือกต้นสนแปซิฟิกหรือต้นยิว (Pacific Yew) และเพนิซิลลิน ยาปฏิชีวนะชนิดแรกที่เกิดขึ้นจากเชื้อรา และยาลดคอเลสเตอรอลก็ผลิตมาจากเชื้อราที่พบตามธรรมชาติเช่นกัน
พืชพรรณตามธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยาทั่วโลก ซึ่งรวม ๆ แล้วมีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 34 ล้านล้านบาทไทย) ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดพืชหรือยาที่มีกลิ่นหอมและพืชสมุนไพรจะมีมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณหนึ่งร้อยล้านบาทไทย)
Photo Credit: Ori Fragman Sapir
การใช้งานที่ปราศจากความยั่งยืน นำมาสู่การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
ด้าน Danna Leaman ประธานคณะกรรมการความอยู่รอดของสปีชีส์ ได้ออกมาประกาศเตือนถึงการสกัดสารทำยาจากธรรมชาติว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเธอได้ออกมาเรียกร้องมาเป็นเวลานานนับทศวรรษ ขณะเดียวกันก็ได้ขึ้นบัญชีแดงพืชสมุนไพรที่ใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) พร้อมทั้งชี้ว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุการลดจำนวนลงของพืชสมุนไพรตามธรรมชาติเท่านั้น
การสูญเสียที่อยู่อาศัย เป็นภัยคุกคามอันดับต้น ๆ ที่พืชพรรณธรรมชาติเหล่านี้ต้องเผชิญ Leaman กล่าวกับ DW
Photo Credit: kamalnishad
การตัดไม้ทำลายป่าและการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำการเกษตรและการขยายตัวของเมือง ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น บราซิล เอธิโอเปีย อินเดีย และอเมริกาเหนือ ได้ทำลายป่าไม้และแหล่งกำเนิดพืชสมุนไพรจากเชื้อราเหล่านี้ลงไป
“ในสังคมเรามีการตระหนักรู้น้อยมาก น้อยมาก ๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับสายพันธุ์พืชเหล่านี้ ขณะที่บริษัทยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงมนุษย์ต่างต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติทั้งนั้น” Leaman กล่าว
กว่า 80% ของพืชเหล่านี้ถูกรวบรวมจากแหล่งป่าธรรมชาติ และจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ทำให้สมุนไพรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันคือ การจัดหาพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชสมุนไพรขึ้นมาทดแทน
แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะดูเหมือนมีประสิทธิภาพและมีความจำเป็นสำหรับการปลูกพืชสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่าง เอ็กไคเนเซีย (Echinacea) สมุนไพรที่ชาวยุโรปและอเมริกานิยมใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ Leaman ได้กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เสนอมานั้นมีความเสี่ยง อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ตื้นเขินที่จะยกให้การปลูกทดแทนเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความต้องการยาสมุนไพรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ธรรมชาติกลับมีพื้นที่ลดน้อยลง
Photo Credit: thairath.co.th
“หากคุณนึกถึงความหายนะที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผืนป่ามาเป็นแหล่งเกษตรกรรมไม่ออก คุณลองนึกภาพว่ามีสัตว์ป่าที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยจากแหล่งอื่นถูกนำมาปล่อยไว้ในป่าแห่งเดียวกัน พวกเขาเป็นสัตว์ป่าต่างสายพันธุ์ ต่างชนิด แต่กลับต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันในผืนป่าแห่งนี้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการปลูกพืชทดแทนที่รังแต่จะทำให้พืชสายพันธุ์ท้องถิ่นถูกคุกคามมากกว่าเดิม” Leaman กล่าว
เธอได้กล่าวเสริมว่า เราต้องการเวลาสำหรับการศึกษาวิจัย ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้ามาดูแลรักษาสายพันธุ์พืชเหล่านี้เอาไว้ เพราะนี่คือสิ่งที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ รวมถึงต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ใช่คนทั่วโลกที่จะเข้าใจถึงปัญหาและยอมจ่ายให้กับพืชสมุนไพรและเชื้อราเหล่านี้อีกด้วย
ยังไม่รวมถึงปัญหาที่ต้องเจออย่างแน่นอน เช่น ตัวอย่างทางพันธุกรรมที่มีอยู่อย่างจำกัดของพืชแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ สถานที่ปลูกทดแทนที่ไม่สามารถดูแลสายพันธุ์ของสมุนไพรได้เท่ากับธรรมชาติจริง ๆ
ระบบสาธารณสุขกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
นอกเหนือจากคุณค่าโดยตรงที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์แล้ว ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสาธารณสุขของมนุษย์
Prunus Africana หรือเชอร์รี่แอฟริกัน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ภูเขาของแอฟริกาในเขตร้อนชื้น และมาดากัสการ์ เชอร์รี่แอฟริกันถูกจัดให้เป็น “สิ่งมีชีวิตคีย์สโตน” (Keystone Species) คือ สิ่งมีชีวิตที่มีอิทธิพลต่อสภาวะแวดล้อมที่อาศัยอยู่อย่างมาก ถึงแม้ว่าบางครั้งจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นอาจจะต่ำก็ตาม หากสิ่งมีชีวิตคีย์สโตนหายไปจากระบบนิเวศหนึ่ง ๆ ระบบนิเวศนั้นจะเสียสมดุลและพังทลายลงในที่สุด
Photo Credit: MG-Bingham/ zambiaflora.com
ขณะเดียวกันต้นยิวถูกจัดอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากสารสกัดที่ได้จากเปลือกของต้นยิว สามารถนำมารักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนั้นความต้องการในอุตสาหกรรมยาจึงสูงขึ้นในทุก ๆ ปี เมื่อพิจารณาจากรายงานโลกทรรศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Global Biodiversity Outlook หรือ GBO) ฉบับที่ 5 ว่าด้วยความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย ปี ค.ศ. 2011-2020 ขององค์การสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่า โลกไม่สามารถบรรุลุแผนกลยุทธ์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่วางไว้เมื่อ 10 ปีก่อนได้ แม้ว่าทางองค์การสหประชาชาติจะเปลี่ยนกลยุทธ์มาสู่แผนงานที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง นั่นคือแผนกลยุทธ์ไอจิ (20 Aichi Biodiversity Targets) ซึ่งประกอบด้วย 5 เป้าประสงค์ 20 เป้าหมาย พร้อมทั้งระบุว่า การที่มนุษย์จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงนั้น ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ฉะนั้นการทำลายระบบนิเวศและพันธุ์พืชสมุนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ย่อมส่งผลต่อการค้นพบวัตถุดิบใหม่ ๆ ในการนำมาทำยา และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงแนวคิดเชิงการแพทย์ (Medical Model) มีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์ป่าสู่คนได้อีกทางหนึ่งด้วย
การปกป้องสุขภาพของสิ่งแวดล้อมนับเป็น “เรื่องสำคัญอย่างยิ่ง” สำหรับการค้นพบพันธุ์พืชที่มีแนวโน้มจะเป็นยารักษาโรคได้ “คุณคิดว่าการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในอนาคตจะมาจากไหนกันล่ะ? แล้วการค้นพบยาหรือวัคซีนสำหรับป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 จะมาจากไหน?” Leaman กล่าว
“มันขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเข้าถึงที่มาของยาได้ขนาดไหน ซึ่งต้องเป็นแหล่งยาที่นอกเหนือจากตำรับตำรายาที่เรารู้ ๆ กันอยู่แล้ว นั่นก็คือการหาแหล่งที่มาของยาชุดใหม่ที่ยังไม่ถูกค้นพบ” Leaman กล่าวปิดท้าย
ที่มา
- Plant and fungi loss threatens access to painkillers and anticancer drugs. www.dw.com/
- จันทร์แรม รูปขำ. สารยังยั้งมะเร็งจากเชื้อรา. http://www3.rdi.ku.ac.th/cl/knowledge/Taxol.pdf
- การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10. http://58.82.155.201/chm-thaiNew/doc/Publication.pdf
- Damian Carrington. 40% of world’s plant species at risk of extinction. www.theguardian.com/environment
- ไขความลับ “ดอกอิชิเนเชีย” (Echinacea). www.thairath.co.th/lifestyle/life/1811884