การปลูกมะม่วงบนพื้นทราย เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านตำบลเนินพระ ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งจุดประกายมาจาก “ลุงทวน วงษ์เนิน” ที่สังเกตเห็นว่า ในพื้นที่มีต้นมะม่วงป่าขึ้น ซึ่งสามารถเติบโตบนพื้นทราย ให้ลูก ออกผล โดยไม่ต้องรดน้ำ จึงทดลองนำกิ่งพันธุ์มะม่วง เช่น อกร่อง เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ มาเสียบยอดลงบนตอมะม่วงป่าเก่า ซึ่งได้ผลผลิตที่มีรสชาติหวานอร่อย จึงนำมาถ่ายทอดให้ลูกหลานและเพื่อนบ้าน กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน
สวนมะม่วงในตำบลเนินพระ มีพื้นที่กว่า 121 ไร่ อยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลเมืองมาบตาพุด มีลักษณะพิเศษคือ เป็นเกษตรพื้นทราย ซึ่งมะม่วงที่ปลูกบนพื้นทราย นอกจากผิวจะสวย เนื้อมะม่วงยังไม่อมน้ำมากเกินไป ทำให้รสชาติหวานกรอบต่างจากมะม่วงที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบของการทำสวนมะม่วงมากว่า 50 ปี ของชาวบ้านตำบลเนินพระคือ พื้นดินที่นี่เป็นดินทรายและมีชั้นทรายลึกถึง 5 เมตร ไม่สามารถเก็บกักความชื้นไว้ได้ ชาวสวนจึงประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเกือบทุกปี โดยเฉพาะปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งรุนแรง เกษตรกรไม่มีน้ำรดสวน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงน้ำฝนสำหรับการทำเกษตรเท่านั้น
ขณะเดียวกัน พื้นที่เกษตรอยู่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียง 2 กิโลเมตร ทำให้ต้องหาทางป้องกันทั้งเรื่องน้ำและอากาศที่เป็นมลพิษ ซึ่งล้วนมีผลต่อผลผลิตมะม่วงของเกษตรกร
ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดทำโครงการ “มาบตาพุดรวมใจฝากน้ำไว้กับแผ่นดิน” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็มรุก ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในตำบลเนินพระ เทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยตั้งเป้าจัดทำระบบน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 20 บ่อ
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGEO) มจธ. กล่าวว่า
“บ่อกักเก็บน้ำ หรือธนาคารน้ำใต้ดิน ในสวนมะม่วงของเกษตรกรที่ตำบลเนินพระ ทำเป็นบ่อระบบปิด ขนาดเล็ก เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่สามารถทำบ่อระบบเปิดได้ โดยพบว่า บ่อกักเก็บน้ำ หรือธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยระบายน้ำท่วมให้ลดลงเร็ว ไม่ท่วมสวนในฤดูน้ำหลาก ขณะเดียวกันมวลน้ำเหล่านี้ช่วยลดความเค็มที่อยู่ในดิน ให้ชะล้างออกไป ซึ่งถือเป็นการจัดการน้ำชายฝั่งได้อีกด้วย เนื่องจากเทศบาลเมืองมาบตาพุดอยู่ติดทะเลและด้วยสภาพของเมืองที่เปลี่ยนไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผิวคอนกรีตทำให้ความเค็มยิ่งรุกล้ำ อีกทั้งธนาคารน้ำใต้ดินนี้ทำให้ผิวดินในพื้นที่สวนมะม่วงชุ่มชื้น ช่วยให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตในภาวะแล้งได้มากขึ้น”
ด้านคุณลุงบุญส่ง บุญยั่งยืน เจ้าของสวนมะม่วงแห่งหนึ่งในตำบลเนินพระ เล่าว่า “พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนเป็นดินทราย เวลาฝนตกมาก ๆ จะระบายไม่ทัน พอฝนตกน้ำจะท่วมสูงขึ้นมาประมาณ 15-20 ซม. แต่หลังจากทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำขังอีก ขณะที่มวลน้ำยังถูกเก็บลงไปใต้ดิน ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นมากขึ้น สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของต้นมะม่วงที่เขียวสดขึ้น ไม่ยืนต้นตาย ต่างจากก่อนหน้าที่ใบเริ่มเหลือง จึงตัดสินใจทำธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่ม จากเดิมทำไว้เพียง 1 บ่อ เพิ่มขึ้นอีก 2 บ่อบริเวณท้ายสวน”
สวนมะม่วงบนพื้นทรายในตำบลเนินพระ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง จึงกลายเป็นต้นแบบเกษตรกรรมที่นำการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน มาใช้กู้วิกฤตภัยแล้งและภาวะน้ำท่วม ซึ่งในอนาคต หากมีการพัฒนาสวนมะม่วงบนพื้นทรายแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็น่าจะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับคนในพื้นที่ได้อีกทางด้วย