“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Development Goals” (SDGs) เป็นทิศทางการพัฒนาระดับโลกที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย* เริ่มต้นดำเนินการในปี 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุสู่ความยั่งยืนในปี 2030 ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้มีระยะเวลาอีกประมาณ 10 ปี ที่เราจะช่วยกันผลักดันให้ประเทศ และประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนในทุกมิติอย่างมั่นคง
“Sustainable Development Report” (เดิมชื่อ SDG Index & Dashboards) หนึ่งในดัชนีที่นิยมใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อกล่าวถึงสถานะความก้าวหน้าเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ออกแบบมาเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของแต่ละประเทศเพื่อเปรียบเทียบกับระดับโลก เป็นเพียงส่วนเสริมของตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ร่วมกับมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ (Bertelsmann Stiftung)
และล่าสุดได้เปิดตัว “รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2020” (Sustainable Development Report 2020) เพื่อรายงานผลการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank Group) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รวมไปถึงสถาบันวิจัยและองค์กรที่ไม่แสวงกำไร เป็นต้น
ในปีนี้รายงานฯ ได้สรุปผลสำรวจความก้าวหน้าของ 166 ประเทศที่ปรากฏข้อมูล (จากประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 193 ประเทศ) พร้อมจัดอันดับระดับโลก โดยคะแนนรวมวัดความก้าวหน้านี้ คิดจากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งเป็นภาพรวมความคืบหน้าของแต่ละประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ แต่ครั้งนี้เราขอยกกันมา 5 อันดับแรก ซึ่งประเทศที่มีคะแนนผลชี้วัดสูงสุด ได้แก่
อันดับที่ 1 สวีเดน คะแนน 84.72
อันดับที่ 2 เดนมาร์ก คะแนน 84.56
อันดับที่ 3 ฟินแลนด์ คะแนน 83.77
อันดับที่ 4 ฝรั่งเศส คะแนน 81.13
อันดับที่ 5 เยอรมนี คะแนน 80.77
จากผลการจัดอันดับข้างต้นจะเห็นได้ว่า 3 อันดับแรกเป็นประเทศจาก “กลุ่มนอร์ดิก” คือ สวีเดน คะแนน 84.72 เดนมาร์ก คะแนน 84.56 และฟินแลนด์ คะแนน 83.77 ตามลำดับ ส่วนอันดับที่ 4 ฝรั่งเศส คะแนน 81.13 และอันดับที่ 5 เยอรมนี คะแนน 80.77 ซึ่งเป็นประเทศจากแถบยุโรป จากคะแนนแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพราะคะแนนอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์วัดผลจากคะแนนเต็มที่ 100
ถอดรหัสประเทศกลุ่มนอร์ดิกกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ประเทศกลุ่มนอร์ดิก” หมายถึง ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคยุโรปเหนือ สิ่งที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใด? ประเทศในภูมิภาคนี้ถึงมีการจัดการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้คะแนนสูงติดกันถึง 3 อันดับของผลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report 2020)
ถึงแม้ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกจะมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง แต่ยังคงรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งประชากรในประเทศยังมีศักยภาพที่ดี และมีวินัยเคารพต่อระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัด ทำให้ประเทศมีการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งวัตถุนิยมและจิตนิยม โดยเราขอหยิบยกตัวอย่างวิธีการจัดการเพื่อพัฒนาความยั่งยืนของ 3 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ มาพอสังเขปดังนี้
ประเทศราชอาณาจักรสวีเดน
สวีเดนได้ออกแนวคิดการบริหารจัดการเมืองแบบบูรณาการ ทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม และด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนเมือง ให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และได้มีการจดลิขสิทธิ์แนวคิดนี้ภายใต้ชื่อ “ซิมไบโอซิตี้” (SymbioCity) ซึ่งมาจากประโยคภาษาอังกฤษว่า Symbiosis in a City หมายถึง การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตภายในเมืองซึ่งมีหลักสำคัญในการบริหารจัดการเมืองคือ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังใช้พลังงานความร้อนส่วนเกินจากอุตสาหกรรมมาใช้ในครัวเรือน มีการนำขยะ และน้ำเสียจากบ้านเรือนมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ โดยมีกระบวนการเริ่มจากการวางผังเมืองที่เน้นให้มีพื้นที่สีเขียว นอกจากจะเป็นปอด และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับเมืองแล้ว ยังทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
ประเทศราชอาณาจักรเดนมาร์ก
ส่วนเดนมาร์กมีการดำเนินนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสวัสดิการสังคม โดยเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชากร เช่น การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ การดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น พร้อมทั้งมีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยคนจนและคนรวยจะมีรายได้แตกต่างกันไม่มากเหมือนกับประเทศอื่น ๆ
เข้มงวดในด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด พร้อมกับบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รัฐบาลเดนมาร์กยังเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินภาษีให้กับรัฐบาล เช่น ภาษีการปล่อยน้ำเสีย ภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาษีบรรจุภัณฑ์ ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีไฟฟ้า และภาษีผลิตภัณฑ์จาก PVC เป็นต้น
แม้ประเทศราชอาณาจักรเดนมาร์กจะผลิตขยะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 15 ล้านตัน แต่ก็ประสบผลสำเร็จในการนำขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบรีไซเคิลเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 35 ถูกนำไปเผาทำลาย โดยนำความร้อนจากการเผาไหม้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 95 และเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในด้านพลังงาน โดยมีตัวชี้วัดสำคัญหลายประการ เช่น เป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในยุโรป และประชาชนส่วนใหญ่ต่างตื่นตัวในการประหยัดพลังงาน
ประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์
ฟินแลนด์จะเน้นให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาแบบเสมอภาค โดยไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนเต็มเวลา และมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่อายุ 7 – 16 ปี โรงเรียนทุกแห่งจะมีอาหารกลางวันบริการฟรี การเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นจะไม่บังคับ โดยมีทั้งการเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายสามัญ และอาชีวศึกษา ส่วนในระดับอุดมศึกษานั้นจะมีทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวศึกษาขั้นสูง โดยทางเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum) ได้จัดอันดับให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาดีที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกอีกด้วย
การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศกลุ่มนอร์ดิกถือเป็นการพัฒนาที่สัมฤทธิ์ผลในแทบทุกมิติ เพราะเป็นการพัฒนาที่สร้างความมั่งคั่ง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ให้ความสำคัญกับคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้ประโยชน์ในระดับที่สามารถพลิกฟื้นให้กลับคืนสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมให้มากที่สุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพียงพอและต่อเนื่อง สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจนเกินขีดความสามารถในการกำจัด
นอกจากนี้รัฐบาลยังเก็บภาษีรายได้มาจัดสวัสดิการแก่ประชาชนได้เต็มศักยภาพ ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ต่างกันมาก สร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง ทั้งในด้านเพศสภาพ การเมือง การศึกษา และการรับบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐ
จากลักษณะการจัดการข้างต้นถือได้ว่า ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกสามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพในระดับโลก หากประเทศอื่น ๆ (และประเทศไทย) ลงมือพัฒนาความยั่งยืนอย่างจริงจังและเข้มงวด เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เราต้องการบรรลุภายในปี 2030 ก็คงไม่ยากเกินจินตนาการ…
ที่มา
- The Sustainable Development Report 2020
- การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศกลุ่มนอร์ดิก (The Sustainable Development of Nordic
- Countries Group) จากวารสารรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2558)
- ชล บุนนาค. SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง?. www.sdgmove.com