จะเป็นอย่างไร หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นหัวข้อหลักในบทสนทนาที่คาเฟ่ สถานที่ที่เหมาะสำหรับการออกมาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและคนรู้ใจ เปลี่ยนมาเป็นแหล่งรวมตัวของผู้ที่สนใจวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น แล้วคาเฟ่ที่พูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้จะมีอะไรที่น่าสนใจ บรรยากาศภายในร้านจะเป็นอย่างไร?
หากนึกภาพไม่ออก KiNd จะพาไปทำความรู้จักกับ “Climate Café” คาเฟ่ที่เป็นเซฟโซนสำหรับผู้ที่รักและชื่นชอบการพูดคุยถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นชีวิตจิตใจ
จิบชาอุ่น ๆ ถกปัญหาภาวะโลกร้อน
หลายคนอาจจะอยากมานั่งเสพบรรยากาศชิลล์ ๆ ที่คาเฟ่ เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากงานที่ทำตลอดทั้งสัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม หัวข้อที่ดูจะซีเรียสนี้โดยเฉพาะแล้ว การมีสถานที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา ก็ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คาเฟ่หลายแห่งทั่วโลกจึงปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอคาเฟ่ของตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้มากที่สุด
“มันค่อนข้างยากที่เราจะเปิดหัวข้อสนทนาด้วยเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ’ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นที่จริงจังและเจ็บปวด” Rebecca Nestor จาก Climate Psychology Alliance องค์กรที่ทำการสำรวจผลกระทบทางด้านจิตใจ จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าว
“เราต้องคุยกันว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมีความหมายอย่างไรต่อเรา และต้องจินตนาการถึงรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” Nestor กล่าว
ด้วยเหตุนี้ Nestor จึงเริ่มจัดงานประชุมสัมมนาเล็ก ๆ ในปี ค.ศ. 2018 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมายังอ็อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ประเทศบ้านเกิดของเธอ มาร่วมดื่มด่ำกับช่วงเวลาสุดพิเศษ สถานที่ที่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายอันแรงกล้าในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
ในปีเดียวกันนั้นเอง เธอได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะหลังจากจัดงานประชุมเสร็จเป็นที่เรียบร้อย Nestor ค้นพบว่า มีผู้ที่สนใจและตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ Climate Café ของ Nestor ไม่ใช่แห่งแรกของโลกที่เปิดตัวขึ้น เพราะในปี ค.ศ. 2015 Jess Pepper ได้เปิดคาเฟ่เล็ก ๆ เป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในเมืองดันเคลด์ และเมืองเบอร์นัม ของสกอตแลนด์
Photo Credit: Ian Lamond/ Alamy
อันที่จริงจะกล่าวว่าเป็นงานประชุมก็ค่อนข้างจะเป็นทางการไป เพราะนี่เป็นเพียงการนัดชุมนุม เพื่อรวบรวมผู้ที่มีความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกันเท่านั้น ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ Nestor จะใช้สถานที่ที่เรียกว่า Climate Café โดยได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจากคาเฟ่แห่งความตายในสหราชอาณาจักร โดยคาเฟ่แห่งความตายจะเป็นสถานที่ให้ผู้คนมาร่วมทบทวนชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ไปจนถึงชีวิตหลังความตาย เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้เกิดความตระหนักและเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต
Photo Credit: Tom Werner From Getty
พื้นที่สำหรับทุกคน
เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การนัดรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้กลายเป็นการกระทำต้องห้าม พวกเขาต้องเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้ Climate Café จึงเปลี่ยนรูปแบบการพูดคุยแบบตัวต่อตัวมาเป็นออนไลน์ และยังไม่หมดเพียงเท่านั้น องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เช่น Extinction Rebellion, Aberdeen Climate Action และ Sussex Green Ideas ต่างก็ให้ความสนใจ และร่วมพูดคุยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จนกระทั่งนำไปสู่การจัดงานเทศกาลในชื่อ Sussex Green Ideas ภายในงานมีบูธแสดงสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก บูธให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น วิธีการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง ประเภทของขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ งานแสดงดนตรีและกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้มาเล่นเกมชิงของรางวัล
หลังจากนั้นไม่นาน Climate Café เริ่มได้รับความนิยมไปทั่วโลก และได้ขยายไปยังเมืองใหญ่อย่างบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองพีล รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา และอีกหลายเมืองในประเทศฝรั่งเศส
Keerat Dhami ผู้ก่อตั้ง Our Climate Café ในรัฐออนแทรีโอ กล่าวว่า “แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวมตัวของนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของสิ่งแวดล้อม แต่เราไม่ได้จำกัดว่าทุกคนจะต้องมีอำนาจหรือมีกระบอกเสียงที่ใหญ่พอ ในการออกมาป่าวประกาศให้เพื่อนร่วมโลกตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม” พร้อมเน้นย้ำว่าคาเฟ่ของเธอนั้นจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลว่าหัวข้อนี้จะถูกเพิกเฉย
ขณะเดียวกัน ดร. Steven Forrest อาจารย์จากสถาบันพลังงานและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฮัลล์และยอร์ก ผู้ริเริ่มเปิด Climate Café ในมหาวิทยาลัย ได้ออกมากล่าวถึงความสำคัญของร้านคาเฟ่แห่งนี้ว่า “เราไม่ได้เป็นเพียงแค่คาเฟ่ที่มีไว้สำหรับพูดคุยเรื่องจิปาถะทั่วไปเท่านั้น แต่เรายังพยายามผลักดันศักยภาพของนักศึกษาให้เข้าใจและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
Climate Café ของมหาวิทยาลัยฮัลล์และยอร์ก ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการ นักศึกษา และชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่เคยประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง เช่น น้ำท่วมบ้านเรือน ให้ร่วมพูดคุยถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างอิสระ ภายใต้บรรยากาศเป็นกันเอง
Photo Credit: Kris Atomic/ Unsplash
“ชาวบ้านในพื้นที่มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เราจึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงนักวิชาการ นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน และคนในชุมชนเข้าด้วยกันให้มากที่สุด เพื่อแชร์ไอเดียและหาแนวทางรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิต”
การพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป หากตระหนักได้ว่า ทุกการกระทำของเราย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต เพียงเท่านี้ หัวข้อที่ใครหลายคนอยากจะจบบทสนทนาให้ไวที่สุด อาจกลายเป็นหัวข้อปกติที่เราใช้พูดคุยกับคนรอบข้างก็เป็นได้
ที่มา
- Anxiety and biscuits: the climate cafes popping up around the world. www.theguardian.com/environment/2021/sep/04/anxiety-and-biscuits-climate-cafes-popping-up-around-world
- Introducing ‘climate cafes’, where you drink tea and talk global warming. www.positive.news/environment/climate-crisis-the-rise-of-the-climate-cafe/
- ‘Climate Cafe’ คาเฟ่รวมพลคนรักษ์โลก เทรนด์ที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ. https://themomentum.co/climate-cafe/