Kind Sustain

Save Life, Save Cost: อนุรักษ์ผืนป่า ไม่ใช่แค่เพื่อชีวิต แต่เพื่อเศรษฐกิจโลก


อัตราการลดลงของป่าฝนทั่วโลกอยู่ในขั้นอันตราย ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1960 เกือบครึ่งหนึ่งของป่าฝนทั่วโลกถูกทำลาย จากพื้นที่ 14 % ของโลก เหลือเพียง 6 % เท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้ว ป่าฝนจะถูกทำลายวันละ 200,000 เอเคอร์ หรือ 810 ตารางกิโลเมตร หลายต่อหลายรุ่น รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์ประเมินคุณค่าของป่าฝนเฉพาะผลประโยชน์ที่จับต้องได้เท่านั้น โดยที่ไม่ได้ประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน แต่ในฐานะระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากที่สุดบนพื้นดิน ป่าฝนมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้มากกว่าที่ตาเห็น


ป่าฝนอยู่ที่ไหน?

ป่าฝนแบ่งเป็นสองประเภท คือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rainforest) และป่าฝนเขตอบอุ่น (Temperate Rainforest)

1. ป่าฝนเขตร้อน คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ ป่าดิบชื้น หรือป่าดงดิบ ป่าฝนเขตร้อนคือป่าในภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ แอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ออสเตรเลีย เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิก

2. ป่าฝนเขตอบอุ่น เป็นป่าที่มีพื้นที่มากถึง 1 ใน 4 ของโลกจากป่าประเภทต่าง ๆ ในเขตอบอุ่นทั้งหมด ป่าฝนเขตอบอุ่นอยู่บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียตะวันออก อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

แม้ว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ป่าฝนทั้งสองประเภทก็ดูดซับน้ำฝนในปริมาณใกล้เคียงกันนั่นคือ 2,000 มิลลิเมตรต่อปี

ป่าฝนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือป่าแอมะซอน มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6.7 ล้านกิโลเมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพคิดเป็น 10 % ของโลกรวมอยู่ในป่าผืนเดียว


ป่าฝนอื่น ๆ ได้แก่ ป่าฝนคองโกในแอฟริกากลางที่ครองอันดับ 2 รองจากป่าแอมะซอน ป่าฝนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา นอกเหนือจากผืนป่าขนาดใหญ่ในประเทศอินเดีย ป่าสงวนสิงหราชา (Sinharaja Forest) ในประเทศศรีลังกายังเป็นป่าฝนที่หายาก อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่อื่น ป่าสงวนสิงหราชาได้รับการขึ้นทะบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมขององค์กรยูเนสโกตั้งแต่ ค.ศ. 1978 ป่าสงวนแห่งนี้เป็นผืนป่าฝนธรรมชาติผืนสุดท้ายของศรีลังกา มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 8,864 เฮกเตอร์ หรือ 88.64 ตารางกิโลเมตร มีพืชพันธุ์ท้องถิ่นคิดเป็น 60 % และสัตว์เฉพาะถิ่น 50 %


ป่าฝนกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดคือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ป่าฝนในภูมิภาคเอเชียและป่าแอมะซอนถูกรุกรานจากการตัดไม้เชิงพาณิชย์ การเผาป่าเพื่อการเกษตร และการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การปลูกปาล์มน้ำมัน การทำปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม

ปัจจุบันการอยู่รอดของป่าฝนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจสมัยใหม่มากกว่าการตัดไม้ทำลายพวกมัน เพียงเพื่อผลประโยชน์ที่จับต้องได้


ป่าฝนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลก นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศจากสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบัน นานาชาติทุ่มงบประมาณมากกว่าสามแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และใช้เวลามากถึง 20 ปี เพื่อบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ป่าฝนสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ด้วยการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากป่าฝนดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2.4 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของคาร์บอนที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทุก ๆ ปี นอกเหนือจากการเป็นโรงงานผลิตออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ ป่าฝนยังทำหน้าที่เป็นเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติ และช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ

มากกว่า 25 % ของยาแผนปัจจุบันใช้วัตถุดิบจากป่าฝนเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น พืชพันธุ์วัตถุดิบยาเหล่านี้มีสัดส่วนเพียง 1 % จากพื้นที่ป่าฝนทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับที่ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แมนเดลสัน และศาสตราจารย์ไมเคิล บาลิค ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

พันธุ์พืชป่าฝนเขตร้อนอาจมีมูลค่าสูงถึง 147 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยารักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น เอชไอวีและมะเร็ง การทำลายป่าฝนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ


ป่าฝนถือเป็นหัวใจสำคัญของแหล่งน้ำทั่วโลก ต้นไม้ใหญ่ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ รักษาระดับปริมาณน้ำฝน และหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ด้วยน้ำจืด พื้นที่ป่าฝนที่ลดลดจึงเพิ่มความเสี่ยงทั้งด้านปริมาณน้ำจืดสำหรับการดำรงชีวิต และด้านการปนเปื้อนของน้ำด้วยนอกจากนี้ป่าฝนยังเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 30 ล้านสายพันธุ์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่าง ๆ และสองในสามเป็นพืชพันธุ์จากทั้งหมดทั่วโลก

ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไปเพราะการตัดไม้มีค่าเท่ากับทำลายสมดุลของระบบนิเวศทั้งหมด ไม่สำคัญว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีขนาดเล็กหรือมีบทบาทน้อยเพียงใด ทุกสายพันธุ์ล้วนมีคุณค่าและมีสิทธิ์จะดำรงชีวิตบนโลกใบนี้


การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจะทำลายเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อการผสมเกสรและแหล่งอาหารตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังกระทบต่อปริมาณน้ำฝน ซึ่งอาจส่งผลให้ปัญหาภาวะโลกร้อนแย่กว่าเดิม


เดินหน้า อนุรักษ์ป่าฝน

1. ปลูกป่า

วิธีง่าย ๆ สำหรับการทดแทนป่าที่หายไปคือปลูกขึ้นมาใหม่ เมื่อปี ค.ศ. 2017 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติได้ร่วมมือกับรัฐบาลบราซิลและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อปลูกต้นไม้ 73 ล้านต้นคืนป่าแอมะซอน หัวใจสำคัญคือการใช้พืชพันธุ์พื้นเมืองเท่านั้น ไม่ใช้พืชพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อรักษาระบบนิเวศดั้งเดิมของป่าฝนเอาไว้นั่นเอง

2. กฎหมายเข้มแข็ง

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ป่าฝนผ่านกฎหมาย โดยต้องตรวจสอบให้ชัดถึงข้อกฎหมาย และมีการบังคับใช้ตลอดเวลาเพื่อปกป้องผืนป่า เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย เกาะมาดากัสการ์ หรือป่าแอมะซอนในบราซิล การแบ่งเขตที่ดินอย่างชัดเจน การปรับและจับกุมอย่างเข้มงวดสำหรับผู้บุกรุกพื้นที่ป่า เช่น การทำอุตสาหกรรมไร่ชา กาแฟ และการป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ มีส่วนช่วยอย่างมากในการอนุรักษ์ป่าฝนตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

3. ลงทุนด้านการอนุรักษ์และการวิจัย

การอนุรักษ์ป่าฝนถือเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้ผืนป่าเหล่านี้อยู่รอด ความพยายามของอาสาสมัครและองค์กรไม่แสวงผลกำไรไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลย หากปราศจากการลงทุน เช่น Rainforest Trust ได้สนับสนุนกลุ่มนักอนุรักษ์ท้องถิ่นในเอกวาดอร์ สำหรับการซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 5 ตารางกิโลเมตร สำหรับพื้นที่เขตอนุรักษ์ Río Canandé ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธ์มากขึ้น

เช่นเดียวกันกับ สหประชาชาติผู้ดำเนินการนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD) ได้ลงทุนในประเทศคองโก เพื่อสร้างระบบตรวจสอบป่าสงวนแห่งชาติแบบออนไลน์ เพื่อติดตามและจัดทำแผนที่ข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทานการตัดไม้ เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย

4. ปลูกฝังความสำคัญของป่าฝน

การสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับคุณค่าของป่าฝนที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะนำทางเด็ก ๆ ไปสู่การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาป่าฝนที่เหลืออยู่ Rainforest Alliance คือองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ออกเครื่องหมายสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่คุกคามป่าฝน และส่งเสริมให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน

ป่าฝนต้องใช้เวลาหลายล้านปีในการวิวัฒนาการ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการปกป้องป่าที่เหลืออยู่จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟื้นฟูและปลูกใหม่


การทำความเข้าใจคุณค่าทางเศรษฐกิจของป่าฝนและการอนุรักษ์ผืนป่านี้ไว้ จะช่วยให้เศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นธรรมมากกว่าเดิม นำไปสู่โลกของเราที่ดีขึ้นนั่นเอง


ที่มา


เรื่องโดย