“วัด” พื้นที่เล็ก ๆ
กับจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคม
●●
ชุมชนปลายน้ำที่มองว่าความยั่งยืนคือ การลงมือทำและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
“หลายคนมองว่าสิ่งแวดล้อมกับธรรมะเป็นคนละเรื่อง แต่จริง ๆ แล้วคือเรื่องเดียวกัน”
จากบทสัมภาษณ์ของ “พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร” เจ้าอาวาสวัดจากแดง เมืองพระประแดง ย่านคุ้งบางกะเจ้า ชุมชนปลายน้ำที่มองปัญหาเรื่องขยะเป็นแรงผลักดัน สู่วิธีการจัดการขยะให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด หรือตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่หลายคนรู้จักกันดี
แม้ว่าปัญหาเริ่มต้นของการคัดแยกขยะของที่นี่จะมาจาก “ขยะพลาสติก” ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร จนในที่สุดก็กลายมาเป็นโครงการ “ผ้าบังสุกุล จีวรจากพลาสติก” แห่งแรกของประเทศไทย ทว่าพระนักพัฒนาท่านนี้ก็ยังคงไม่หยุดที่จะลงมือจัดการกับปัญหาขยะต่อไป
จุดเริ่มต้นจาก “ทำไม่เป็น” นี่แหละ!
●●
“กระบวนการแบบนี้เคยเห็นมานานแล้วที่เอาขวดไปทำจีวร ไปทำผ้าเนี่ย ก็เห็นที่ไต้หวันมาสัก 15 ปีแล้ว ไปดูงานที่ไต้หวันมา แต่โครงการเขาเป็นโครงการใหญ่ของมูลนิธิฉือจี้ เราก็คิดว่าเราคงทำไม่ได้หรอกเพราะเขาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เราไปเห็นตอนเขาสำเร็จแล้ว แต่จุดเริ่มต้นเราไม่เห็น พอไม่เห็นก็กลับมาก็คิดว่าเราก็คงไม่สามารถทำได้หรอก เพราะโครงการมันใหญ่เกินที่เราจะทำได้ แต่พอมาอยู่ตรงนี้เริ่มทำนู้นเริ่มทำนี่ เออจริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นก็คือ จากไม่มี จากไม่เป็นนี่แหละ แต่ขอให้เราตั้งใจทำ พอตั้งใจอยากจะทำปุ๊บ พอเริ่มทำไป ๆ คนนู้นก็มาถามว่าจะทำอะไรต่อ เราก็เริ่มเห็นว่าเป็นชิ้นเป็นอัน”
❛❛
“ทำไม่เป็น” หนึ่งวลีสั้น ๆ ที่หลายคนอาจจะใช้เป็นเหตุผลในการไม่ลงมือทำอะไรบางอย่าง
แต่สำหรับพระมหาประนอมกลับเลือกที่จะลงมือทำ พร้อม ๆ กับเรียนรู้และ
พัฒนาไปทีละขั้นตอน
❜❜
จาก “ขยะ” ที่เคยเป็นปัญหา ก็เริ่มหาทางออก จนสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้หลากหลาย จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สามารถทำให้สังคมกระเพื่อม และเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยตอนนี้ก็สร้างความตื่นตัวให้กับคนบริเวณรอบวัดจากแดง และคนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้มาสนใจเรื่องการแยกขยะมากขึ้น
“ขยะน่ะ พอเริ่มคัดแยกขยะอันตราย ขยะไม่อันตราย เมื่อก่อนไม่รู้นะ ตอนนี้ก็รู้แล้ว เมื่อก่อนไม่ได้แยก ตอนนี้ก็แยกแล้ว แยกเสร็จตอนนี้ก็แนะนำเชิญชวนให้คนอื่น ๆ มาแยก” พระอาจารย์ กล่าว
เพราะเราไม่ได้ต้องการทำคนเดียว
●●
“จริง ๆ จีวรนี่ทำมานานแล้วตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทำโครงการเพื่อหาทางออกของขยะพลาสติกเราได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิชัยพัฒนา เขาก็ช่วยหาก็ติดต่อ GC ให้ เป็นเครือข่ายมาช่วยต่อยอด เขาก็เลยถามว่าถ้าอยากจะช่วยจะให้เขาช่วยอะไรบ้าง เราก็เลยบอกถ้าจะช่วยจริง ๆ ขวดน้ำก็เยอะนะ เอาขวดน้ำไปทำผ้าทำจีวรได้มั้ย? เขาก็ตอบว่าอืมทำผ้าน่ะได้ แต่ถ้าทำจีวรยังไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ก็เลยขอทดลองเอาขวดน้ำไปทำเป็นผ้าจีวร แล้วก็พอดีมีปตท. GC เข้ามาช่วย เขาก็บอกว่าจะทดลองให้ จะหาหน่วยงานที่จะสามารถทำได้”
หน่วยงานเอกชนรายแรกที่เข้ามาประสานงานกับโครงการการทำผ้าบังสุกุล จีวรจากพลาสติกคือ บริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล เนื่องจากทางบริษัทฯ ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมีโครงการจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ย่านคุ้งบางกะเจ้า 6 เรื่องด้วยกันอยู่แล้ว คือ น้ำ พื้นที่สีเขียว ขยะ อาชีพ การท่องเที่ยว และการศึกษา จึงได้เข้ามาสำรวจ และต่อยอดโครงการที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งทางวัดจากแดงนั้นมีโครงการเรื่องการแยกขยะ และการรีไซเคิลอยู่ จึงได้รับการสนับสนุนและประสานงานกัน จนออกมาเป็นโครงการในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือของฝั่งประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป รวมถึงชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้องค์กรในทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง เรียกได้ว่าเป็นการประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายพื้นที่ของวิถีการแยกขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดให้กว้างยิ่งขึ้น
❛❛
จากคนทั่วไปก็ได้เยอะ อย่างชาวบ้านพอเขาเห็นว่าเอาพลาสติกไปทำจีวร ชาวบ้านก็จะช่วยเก็บพลาสติกมาให้ ทางวัดก็จะบอกว่าช่วยคัดแยกขยะด้วยนะ
❜❜
“และก็จะมีชาวบ้านจิตอาสา ชาวบ้านรับค่าแรง สำหรับจิตอาสามาช่วยไม่ได้ต้องการอะไรมาเพียงบางวัน ส่วนที่รับค่าแรงก็เป็นการกระจายรายได้ชุมชนได้ค่าแรง โดยเฉพาะผู้ที่พิการมือขาก็สอนให้เขาทำคือ ชาวบ้านก็มีรายได้ ใครอยากปลูกผักที่วัดมีปุ๋ย วัดบำบัดน้ำเสียให้ ไปรดน้ำต้นไม้ได้ ชาวบ้านเริ่มเข้ามาร่วมมากขึ้น ๆ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์จากไลน์ จากเฟซบุ๊ก ปากต่อปาก”
เป็นขั้นเป็นตอน – ต่อยอดจากจีวรพระ
●●
ความสำเร็จของ “ผ้าบังสุกุล จีวรพระจากพลาสติก” เรียกว่าเป็นการ อัพไซคลิ่ง (Upcycling) ที่นำเอาขวดพลาสติก PET ชนิดใสมาผ่านนวัตกรรมและแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล จากนั้นจึงนำมาถักทอกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย และเส้นใยนาโนซิงค์แอนตี้แบคทีเรีย ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติกได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ทางวัดฯ ยังต่อยอดการทำจีวรพระ ไปสู่การทำเสื้อผ้าให้ชาวบ้าน เพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกสามารถเข้าถึง และใช้ได้อย่างทั่วถึงกับบุคคลทุกประเภท ไม่เพียงเฉพาะพระนั่นเอง
“กระบวนการตั้งแต่ หนึ่ง-เก็บ สอง-คัดแยก สาม-อัดเป็นก้อน สี่-ไปบด ห้า-เอาไปทำเป็นเส้นใย หก-ไปทำเป็นเส้นด้าย เจ็ด-ทอเป็นผ้า ขั้นตอนแต่ละขั้นเนี่ยจะเห็นการคัดแยกขวดการบดขวด เห็นการทำเส้นใย ทำเม็ดพลาสติก พอทำเป็นเส้นใยก็เอามาติดกับเส้นใยฝ้ายผสมกัน แล้วก็ทอเป็นเส้นด้าย จากเส้นด้ายก็ทอเป็นผืนผ้า ย้อมออกมาเป็นผ้าม้วน แล้วกลับมาตัดเย็บจีวรที่วัดได้จีวรมาสมปรารถนา คราวนี้ขวดน้ำก็ไม่ต้องทิ้งนะ 15 ใบได้จีวรผืนหนึ่ง 60 ใบได้จีวรชุดหนึ่งเลย”
❛❛
แต่ถ้าทำแค่จีวรเฉย ๆ เพราะพระมีแค่ 2 แสนรูปประชากรไทยมี 70 ล้าน 70 ล้านกับ 2 แสนเนี่ย มันไม่เวิร์กหรอก แต่ถ้าทำเสื้อมาให้ชาวบ้านใช้ได้เนี่ย มันจะเวิร์กมากกว่า
❜❜
“จากนั้นก็ทำเสื้อยืดทำนู่นทำนี่ ปรากฏว่าก็มีคนมาออร์เดอร์ 2 พัน 3 พันตัวจากขวดน้ำ มันก็เลยอันนู้นก็ได้อันนี้ก็ได้ เสื้อยืดก็ได้ กระเป๋าก็ได้ รองเท้าก็ได้ ทุกอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่มมันทำได้หมด พอทำได้หมด เออก็เป็นไปได้” พระมหาประนอม กล่าว
เพิ่มมูลค่าให้สินค้าจากพลาสติก
●●
❛❛
ถ้าคนเข้าใจจริง ๆ การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมช่วยลดโลกร้อน ช่วยลดขยะ ช่วยสารพัดช่วย แต่คนยังมองไม่เห็น ทำยังไงให้มองเห็น ง่าย ๆ เลยใส่ของที่มีมูลค่าลงในวัสดุรีไซเคิล
❜❜
ใส่ฝ้ายลงไป ใส่ซิงค์ไปเป็นผ้าเกรดเอ ซักง่าย แห้งเร็ว ไม่ยับ ไม่อับ ไม่ชื้น ไม่ต้องรีดด้วย ใช้ได้เลยก็เข้าท่าดีหรือ Water-Proof ได้มั้ย กันน้ำก็ได้ อย่างในช่วงฝุ่นละออง PM 2.5 ก่อนโควิดจะมาทำหน้ากากกันได้จริง ๆ แต่คนไม่นิยม เราคิดว่าคนน่าจะนิยมแต่คนไม่นิยมเพราะมันช่วยป้องกันได้ แต่พอโควิดมาหน้ากากที่ทำไว้แล้วนั้นคือ ไม่ทัน ไม่พอใช้ มีออร์เดอร์เข้ามา อยากได้แบบนั้น อยากได้แบบนี้ ช่วงนั้นวัสดุที่มาจากรีไซเคิลผลิตมาไม่ทัน ทำไม่ทัน
แม้ว่าช่วงแรกกระแสของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขยะพลาสติกจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากหลายคนยังมีมุมมองว่า พลาสติกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณภาพ และไม่เห็นประโยชน์ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ การแก้ปัญหาตรงนี้คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยการเพิ่มส่วนประกอบที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเข้าไป เช่น ผ้าฝ้าย นาโนซิงค์แอนตี้แบคทีเรีย เป็นต้น พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่า ด้วยการปรับมุมมองใหม่ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์จากการรีไซเคิล และอัพไซคลิ่ง
“ตอนนี้กระแสรึไซเคิลก็ฟื้นขึ้นมา ตอนแรกคนก็จะมองว่าของรีไซเคิลเป็นของเกรดต่ำ ไม่มีราคา ไม่อยากใช้ เราก็ต้องเอามาทำยังไงให้มันมีเกรดสูง อย่างเช่น ผ้าเนี่ยรีไซเคิลจากพลาสติกอย่างเดียวก็เป็นเกรดต่ำ เราก็ใส่ฝ้ายเข้าไปให้ดูสูงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มากกว่าฝ้ายละและก็ใส่นาโนซิงค์เข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุขึ้นไปอีก ให้คนเห็นคุณค่าผ้ารีไซเคิลว่าไม่ใช่ของเกรดต่ำ”
การส่งต่อ “ความยั่งยืน”
●●
“จีวรเป็นจุดเริ่มต้น แต่เราทำเพิ่มมากกว่านั้น เศษอาหารไปทำปุ๋ย ที่วัดทำปุ๋ยหลายร้อยตัน นี่คือความยั่งยืนเรื่องอาหาร สูตรปุ๋ยเร่งดอก ปุ๋ยอินทรีย์ ก็เป็นความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม เก็บขยะบนบก ในน้ำ อากาศ จากที่มีเรือเก็บขยะน้อยตอนนี้มี 10 กว่าลำ มีเรือกล ความยั่งยืนคือเรื่องสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เรื่องของอากาศดีขึ้น เรื่องของอาชีพดีขึ้น เมื่อก่อนคือ ขยะจะเอาไปทำอะไรได้ ก็เลยมีโครงการขุดทองจากกองขยะ มีคอร์สสอนเรื่องการแยกขยะ ชาวบ้านหลายคนที่เรียนรู้และกลับไปทำ ก็เอาไปใช้ได้จริง แล้วความยั่งยืนก็ตกถึงประชาชน ทางวัดสอนเรื่องธนาคารน้ำให้ ถ้าน้ำเสียในชุมชนทางวัดก็ทำน้ำดี โดยการตกตะกอนฆ่าเชื้อ อันนี้สิ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าถ้าเราทำนะ สิ่งแวดล้อมมันก็จะดีขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งขยะไม่เป็นที่”
ความยั่งยืนที่เราเห็นได้ชัดเจนจากวัดจากแดงคือ “การลงมือทำ” และพัฒนาการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการขยะอินทรีย์สู่การนำไปทำปุ๋ย การจัดการขยะพลาสติกสู่การนำไปทำผ้าบังสุกุล จีวรพระ และเสื้อผ้าให้บุคคลทั่วไป การจัดการขยะที่เป็นแก้วสู่การนำไปทำทราย แก้วกรองน้ำ และพระพุทธรูป
แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นความยั่งยืนที่เกิดจากชุมชนปลายน้ำเล็ก ๆ ทว่าก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เริ่มที่ตัวเรา เพราะถ้าไม่เริ่มวันนี้ แล้วจะไปเริ่มวันไหน? ความยั่งยืนเรื่องการแยกขยะจึงเป็นสิ่งที่ควรส่งต่อ ให้คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่หันมาใส่ใจอย่างแท้จริง
“เพราะงั้นเนี่ยขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไปมันคือ ‘สมบัติ’ คือเอาเป็นเงินเป็นทองก็ได้ มากกว่านั้นคือการได้เคลียร์ ‘ขยะสมอง’ ขี้โมโหขี้น้อยใจคือโทสะ ขี้งกคือโลภะ ขี้หลงขี้ลืมคือโมหะ ขยะที่อยู่ในสมองแยกเถอะ ขยะภายนอกเราแยกแล้ว แยกขยะสมองให้ชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าอยากทันสมัยต้องแยกขยะ”