เคยสังเกตไหม…
แถบสีเหลือง ปุ่มนูน ๆ รูปทรงต่าง ๆ บนทางเดินเท้าที่เราเคยย่ำผ่าน คืออะไร?
สิ่งตกแต่งทางสถาปัตยกรรม หรือรหัสลับบนทางเท้าที่เรายังไม่รู้?
หลายคนอาจจะเคยเห็น รู้จัก หรือคุ้นเคยกันมาบ้างแล้ว กับ “เบรลล์บล็อก” (Braille Block) แผ่นปูพื้นที่มีสัญลักษณ์แทนตัวอักษรปรากฏอยู่บนทางเท้า ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่การตกแต่งลวดลายบนพื้นแต่อย่างใด เพราะนวัตกรรมชิ้นนี้คือ เครื่องมือนำทางที่สร้างขึ้นมา เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา สามารถใช้เดินทางได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้นในชีวิตประจำวัน
โดยวันนี้ KiNd จะพาทุกคนไปรู้จักกับจุดกำเนิดของนวัตกรรมชิ้นนี้ พร้อมมองถึงปัญหาว่าทำไมเจ้าเบรลล์บล็อกนี้ ถึงยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย
จุดกำเนิดของเบรลล์บล็อก
ที่เป็นมากกว่าแผ่นสี่เหลี่ยมจตุรัสตกแต่งถนน
“เบรลล์บล็อก” (Braille Block) ถูกพัฒนาคิดค้นโดยคุณครูผู้สอนในโรงเรียนตาบอดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “เซะอิชิ มิยะเกะ” (Seiichi Meyaki) ทางเดินนี้เป็นนวัตกรรมที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า 点字ブロック (Tenji Burokku) หรือ Tactile Paving สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1965 ซึ่งก่อนที่คุณครูท่านนี้จะหยิบจับอักษรเหล่านี้ ขึ้นมาพัฒนาเป็นปุ่มกระเบื้องบนทางเดิน เดิมทีคุณครูตาบอดชาวฝรั่งเศสชื่อ “หลุยส์ เบรลล์” เป็นผู้คิดค้นสัญลักษณ์แทนตัวอักษรขึ้นมาก่อน โดยเลือกใช้จุดนูนเล็ก ๆ ใส่ในแต่ละช่องรวมทั้งหมด 6 ตำแหน่ง และจัดวางสลับตำแหน่งไปมาเป็นรหัสแทนตัวอักษร เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
โดยเบรลล์บล็อกที่เซะอิชิ มิยะเกะต่อยอดพัฒนามานั้น ได้นำมาใช้จริงครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1967 ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งในเมืองโอะกะยะมะ (Okayama) ทั้งนี้ผู้พิการสายตาสามารถคลำหาทาง จากผิวสัมผัสที่มีความนูนของทางเดินนี้ได้จริง ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีจากการทดลองใช้ จากนั้นจึงได้ขยายการใช้งานจากโรงเรียนไปสู่สถานที่สำคัญอื่น ๆ เช่น สถานีรถไฟไปสู่ระดับเมือง และระดับภูมิภาค ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้อีกหลายประเทศทั่วโลกยังนำไปใช้เป็นมาตรฐานด้วย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ออสเตรเลีย เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ หรือแม้แต่ในประเทศไทยก็นำมาใช้ด้วยเช่นกัน
สัญลักษณ์บนทางเท้าของผู้พิการทางสายตามี 2 แบบที่นิยมใช้คือ
แบบที่ 1
Warning Block
ลักษณะเป็นปุ่มกลม ๆ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้หยุด” หรือ แจ้งให้ทราบว่าทางข้างหน้าเป็น “ทางม้าลาย” หรือ “บันได” ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ให้ความใส่ใจต่อผู้พิการทางสายตาเป็นพิเศษยิ่ง โดยแผ่นกระเบื้องบนทางเท้ายังมีเสียงแจ้งเตือนให้ทราบอีกด้วยว่า สัญญาณไฟจราจรขณะนี้เป็นสีเขียว หรือสีแดง เช่นหากเป็นไฟเขียว สัญญาณเสียงก็จะส่งเสียงให้ทราบเป็นจังหวะ แต่หากไฟจราจรกำลังจะเปลี่ยนสัญญาณ เสียงสัญญาณก็จะถี่ขึ้น หรือเร็วขึ้นนั่นเอง
แบบที่ 2
Guiding Block
ลักษณะเป็นเส้นยาวตรง ซึ่งมีความหมายตรงตามสัญลักษณ์ นั่นคือ “ให้เดินตรงไป”
สัญลักษณ์ทั้ง 2 แบบนี้ เมื่อผู้พิการทางสายตาใช้ไม้เท้าอำนวยความสะดวกในการเดิน ก็จะสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญนอกจากอักษรเบรลล์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบอกทิศทางและอำนวยความสะดวกในการเดินแล้ว ยังมีเรื่องของ “สี” ซึ่งสีที่นิยมใช้คือ สีเหลือง เพื่อความสว่างและมองเห็นง่าย โดยกรณีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาที่อาจจะมองเห็นได้บ้าง หรือผู้มีปัญหาทางการมองเห็นแบบเลือนราง
ในประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานการสร้างเบรลล์บล็อกครอบคลุมพื้นที่ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตตัวเมืองรอบ ๆ สถานีรถไฟ และยังมีพื้นทางเท้าที่เรียบเสมอกัน มีบล็อกนำทางอย่างชัดเจนครอบคลุมไปถึงบริเวณทางม้าลายเรียกว่า “Escort Zone” รวมทั้งนำทางไปยังประตูเข้าสถานีรถไฟไปยังปุ่มกดเรียกลิฟต์ บันไดลงสถานีรถไฟ และป้ายรถเมล์
การออกแบบตำแหน่งของเบรลล์บล็อกที่ญี่ปุ่น จะออกแบบให้ทางชิดขอบด้านในของทางเดินเพื่อความปลอดภัย โดยบางแห่งสามารถเรียงลำดับได้คือ ทางจักรยาน (บางแห่งอนุญาตให้ขี่บนทางเท้าได้) ทางคนเดินเท้าปกติ และทางเดินผู้พิการทางสายตา รวมถึงผู้ใช้รถเข็นต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่าประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเอาใจใส่ความแตกต่างทางกายภาพของคนในสังคม แม้จะมีความไม่เท่าเทียมกัน แต่ให้ความสำคัญอย่างเท่ากัน
Photo Credit: www.kiji.life
เบรลล์บล็อก: การเพิ่มความสะดวกสบาย
ที่กลับกลายเป็นปัญหาในประเทศไทย
“มันก็ลำบากนะคะ เพราะว่าทางเท้ามันแคบ มีสิ่งกีดขวางเยอะ และปุ่มก็อยู่ระหว่างสิ่งกีดขวาง ถ้าจะทำเบรลล์บล็อกให้คนพิการเดิน น่าจะทำในที่ที่ไม่มีเสาหรือไม่มีอะไรกีดขวาง เพราะว่าถ้าทำในที่ที่มีสิ่งกีดขวาง บางทีก็ไม่รู้ต้องหลบไปซ้ายหรือขวา อย่างอันนี้ฟุตพาทก็แคบถ้าหลบขวาก็อาจตกฟุตพาทได้” – บทสัมภาษณ์คนตาบอดที่ใช้เบรลล์บล็อกบนทางเท้าจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ThaiPBS
ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ระบุว่า เบรลล์บล็อกเกือบทุกแห่งไม่สามารถใช้งานได้เจริง พร้อมเสนอว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเข้าใจวิธีการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐาน และควรสร้างความรู้ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของเบรลล์บล็อก เพราะหากติดตั้งไปแล้ว นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ด้วย ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่เพิ่มช่องทางเดินคนตาบอดในหลายแห่งทั่วกรุงเทพและเมืองใหญ่ เพื่อเอื้อต่อคนพิการตาบอดให้เกิดความเท่าเทียมสามารถใช้ทางร่วมกับผู้ใช้ทางเท้าคนอื่น ๆ ได้ ที่ผ่านมาการใช้งานจริงอาจจะสวนทางกับที่ภาครัฐตั้งใจ
Photo Credit: Haragayato/ 99percentinvisible.org
ส่วนประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ด้วยสภาพพื้นที่และความพร้อมในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างเบรลล์บล็อกที่เป็นลักษณะไกด์บล็อกใช้นำเส้นทางเดิน ขอเพียงแค่ลักษณะแจ้งเตือนหรือ Warning Block ให้ถูกต้องมีมาตรฐานก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการตาบอดอย่างมากแล้ว เช่น เตือนว่าข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีสัญญาณไฟแดง มีสำนักงาน ต้นไม้ จุดขึ้นลงบันได เป็นต้น
“อาจเป็นเพราะว่าคนไทยหรือระบบฝีมืองานช่างไทยนั้น ยังไม่พร้อมที่จะใช้มาตรฐานสากลแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้คนตาบอดหลายกลุ่มในประเทศไทยตอนนี้ ก็ไม่อยากให้ใช้ Guiding Block เพราะเขาถือว่าถ้ามีแล้วติดตั้งไม่ดี คนทั่วไปมักจะมองว่าทำไมทำแล้วคนตาบอดกลับไม่มาใช้ ไม่คุ้มเลย เขาไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกตำหนิ
ถ้าอย่างนั้นเครือข่ายคนตาบอดขอไม่ให้ใช้ Guiding Block ขอให้ใช้แค่ “Warning Block” ไปก่อน เวลาเจอทางต่างระดับหรือเจออุปสรรคก็พอแล้ว หนึ่งคือประหยัดงบ และสองคือป้องกันการลงทุนแล้วใช้ไม่ได้จริง เพราะคนตาบอดไม่มีอำนาจในการบอกช่างให้ทำให้ได้มาตรฐาน หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องนี้” – อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาจจะกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่เบรลล์บล็อก แต่อยู่ที่การจัดระเบียบของทางเท้า และการประสานงานกันของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล และภาคประชาสังคม (สมาคมคนตาบอด) พร้อมทั้งควรมีการให้ความรู้เรื่องนี้กับคนที่เกี่ยวข้องอื่นที่ลงมือทำด้วย เช่น ช่างทำทาง หรือผู้ตรวจสอบงาน
หากเรามองย้อนกลับไปดูปัญหานี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งแก้ปัญหาอย่างใส่ใจและเข้มงวด ในอนาคตความเท่าเทียมกันของสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ก็อาจจะกลายเรื่องธรรมดาสากลที่ไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์คนพิการทางสายตาเท่านั้น ทว่าอาจจะกลับมาตอบโจทย์กับทุกคนในสังคมได้อย่างคาดไม่ถึง
อ้างอิง:
- ไขรหัสบนทางเท้า เบรลล์บล็อกคืออะไร?. https://thisable.me/content
- ทางเดินคนตาบอด. https://program.thaipbs.or.th/Plikpomnews
- เรียนรู้โลกของคนพิการ. https://program.thaipbs.or.th/watch/Ddrdpl
- ทางเดินสีเหลืองสำหรับผู้พิการทางสายตา. https://kiji.life/pha-ku-chi-fever/
- “เบรลล์บล็อก” ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ. www.posttoday.com/social