“เมื่อไวรัสโคโรนาถล่มฟิลิปปินส์อย่างรุนแรงและซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่หนักขึ้นไปอีก ประชากรหลายล้านคนตกงาน ประสบปัญหาอดอยาก และรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหา”
โดย Carsten Stormer
รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
24.08.2020
ในวันที่ “Jebrix Labitoria” ตัดสินใจว่าเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้วนั้น มันช่างเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายเกินบรรยาย พ่อเลี้ยงของเขาเสียชีวิต ส่วนแม่ร้องขอเงินจากเขาเพื่อจัดงานศพพ่อเลี้ยง น้องสาวที่เป็นผู้ดูแลลูกชายวัยสองขวบของเขาอยู่ ๆ ก็ต้องการเงินค่าช่วยเลี้ยงหลานขึ้นมา ลูกชายก็ร้องเพราะหิว แต่ Jebrix เองไม่มีแม้เงินจะซื้อนมให้ลูก เมื่อไม่มีเงิน ไม่มีงาน ก็ไม่มีอาหาร เขารู้สึกใจสลายไปหมด แถมยังต้องมาทะเลาะกับ “Maridel Labausa” แฟนสาววัย 20 ปี เกี่ยวกับอนาคตและความรับผิดชอบต่าง ๆ อีก ยิ่งทำให้ชีวิตของเขาย่ำแย่และเต็มไปด้วยความวิตกกังวลขั้นสุด
Jebrix เป็นชายรูปร่างบาง วัย 25 ปี ที่หน้าตาดูเด็กกว่าอายุจริง ก่อนที่ไวรัสโคโรนาจะระบาด เขาทำงานเป็นช่างตัดเสื้อ ส่วนแฟนสาวทำงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างกะทันหันในช่วงกลางเดือนมีนาคม ร้านค้า ศูนย์การค้า และร้านอาหารต่างก็ปิดตัวลง และชีวิตของประชาชนก็หยุดนิ่งตามไปด้วย
“บางวันเราได้กินอาหารมื้อเดียว บางครั้งก็มีแค่กาแฟสำเร็จรูปให้ดื่ม” Labitoria กล่าว “มีครั้งหนึ่งพวกเราได้รับถุงยังชีพจากรัฐบาล ในนั้นมีข้าว และปลากระป๋องเพียงเล็กน้อย น้อยนิดเหลือเกิน”
“ผมไม่มีใครที่จะขอความช่วยเหลือได้เลย” Labitoria กล่าว พลางย้อนเล่าไปถึงตอนที่เขาดื่มกาแฟหนึ่งแก้ว แล้วพยายามฆ่าตัวตายในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นวันเกิดของ Maridel เธอพบเขาตอนที่หมดสติ ใบหน้าของเขาเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้ว จากนั้นเพื่อนบ้านก็ช่วยพาเขาส่งโรงพยาบาล
Photo Credit: Veejay Villafranca
Jebrix จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น “ผมตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาล” เขากล่าว โดยมี Maridel อยู่เคียงข้าง “อย่าทำอย่างนั้นอีกเลย คุณมีลูกที่ต้องการคุณนะ” Maridel กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ความสิ้นหวังในแบบที่ Jebrix Labitoria เจอ ได้กลายเป็นเรื่องสามัญไปแล้วในฟิลิปปินส์ทุกวันนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้สร้างหายนะให้คนในชาติเป็นเวลาหลายเดือน และเริ่มกลืนกินผู้คนเช่น Jebrix อย่างเจ็บปวด เศรษฐกิจตกต่ำและประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลได้ประกาศตัวเลขใหม่ว่า อัตราการว่างงานของวัยผู้ใหญ่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 45.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีประชาชน 27.3 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับกับวิกฤตถึงรุนแรง คือ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และไม่มีสวัสดิการทางสังคมรองรับ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte เพิกเฉยต่อสถานการณ์ไวรัสมานานเกินไป โดยยังคงเปิดพรมแดนและสนามบิน แม้ว่าไวรัสจะเริ่มแพร่ระบาดมากแล้วก็ตาม
ส่วนการตรวจสอบไวรัสก็เริ่มช้าเกินไป จนกระทั่งวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ก็ตัดสินใจปิดประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยและการกักตัวอย่างเข้มงวด โดยให้ประชาชนสวมหน้ากาก ใช้เคอร์ฟิวที่เข้มงวด รวมทั้งปิดถนนหนทาง ควบคุมระยะห่างทางสังคม และออกกฎห้ามดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเด็ดขาด
เป็นเวลาหลายเดือนที่กรุงมะนิลาถูกตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศ มีการยกเลิกเที่ยวบิน และปิดระบบขนส่งมวลชน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาล้วนถูกสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด ทหารตั้งสิ่งกีดขวางบนถนน ส่วนตำรวจเดินลาดตระเวนตามตรอกซอกซอยพร้อมอาวุธปืน
ผู้คนหลายพันคนที่พยายามหางาน หรือหาอาหารถูกจับเนื่องจากพวกเขาฝ่าฝืนกฎ และมีสองคนถูกยิงเสียชีวิตโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัย ดูแล้วน่าจะเป็นการปิดเมืองอย่างเข้มงวดและยาวนานที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่ถึงกระนั้นการปิดเมืองเพื่อหยุดการระบาดของไวรัส ก็ทำได้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด เพราะความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ในกรุงมะนิลามีมากเกินไป
และถึงแม้จะมีการปิดเมืองอย่างเข้มงวด แต่ตัวเลขก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 27,000 คน แต่รายงานล่าสุดตอนนี้พุ่งขึ้นเป็น 170,000 คนแล้ว ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ประกาศสถิติ ใหม่ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 7,000 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ถึงแม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะชะลอตัวลงก็จริง แต่จำนวนผู้ป่วยใน สถานพยาบาลหลายแห่งในกรุงมะนิลายังคงหนาแน่น และจำนวนเจ้าหน้าก็ไม่เพียงพอ
โรงพยาบาลของรัฐ 2 แห่งในกรุงมะนิลาต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากมีพนักงานติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ไม่รับผู้ป่วยเนื่องจากมีเตียงไม่เพียงพอ บรรดาพยาบาลไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศอีกต่อไป นอกจากนี้ประชาชนในกรุงมะนิลาจำนวนมากไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุม หรือเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ จนต้องต่อคิวยาวเหยียดแบบไม่มีที่สิ้นสุดหน้าศูนย์ทดสอบไวรัสโคโรนาและหน่วยตรวจแบบกางเต็นท์เพียงไม่กี่แห่ง
Photo Credit: Veejay Villafranca Photo Credit: Veejay Villafranca
มีผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องตั้งแคมป์ในอาคารผู้โดยสารขาเข้าของสนามบิน ในสนามกีฬา ในโรงยิม และในสนามบาสเก็ตบอลพร้อมสัมภาระ รวมถึงแรงงานอพยพที่ติดค้างเพราะตกงาน และผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้เนื่องจากเที่ยวบิน รถประจำทาง และเรือข้ามฟากหยุดให้บริการโดยสิ้นเชิง มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนชรา ที่ต่างรอคอยให้ใครสักคนมาบอกวาพวกเขาควรจะทำอย่างไรต่อกับชีวิตดี
ท่ามกลางภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่สำหรับคนเหล่านี้ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤตว่า LSIs – Local Stranded Individuals – ประชาชนทองถิ่นผู้ติดค้าง – ซึ่งต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งโครงการขนส่งมวลชนฟรี เพื่อนำผู้คนหลายพันคนเหล่านี้ที่ติดค้างกลับไปยังภูมิลำเนาด้วยรถประจำทางและเรือข้ามฟาก โดยหวังว่าการไปตกระกำลำบากที่บ้านน่าจะดีกว่าต้องทนทุกข์ในเมืองหลวงที่มีผู้อยู่อาศัยหลายล้านคน ตอนนี้ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้ประกาศมาตรการใหม่ผ่านการถ่ายทอดสดทุกสองสัปดาห์ เพื่อค่อย ๆ ผ่อนคลายความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรคภายในประเทศ
Photo Credit: Veejay Villafranca
แต่แล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอีก และต้องสั่งล็อกดาวน์กรุงมะนิลาเป็นครั้งที่ 2 รวมไปถึง 4 จังหวัดใกล้เคียงด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 27 ล้านคน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขู่ว่าจะยิงผู้ที่ฝ่าฝืนการกักตัวทิ้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมาคมแพทย์ 80 แห่งของประเทศ ได้ออกโรงเตือนว่าระบบสุขภาพของรัฐกำลังล่มสลาย และแม้ว่าการปิดล็อกรอบใหม่จะคลายความเข้มข้นลงเล็กน้อยในสัปดาห์นี้ แต่ดูเหมือนว่าฟิลิปปินส์ได้สูญเสียความสามารถในการต่อสู้กับไวรัสโดยสิ้นเชิง
“สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดยังมาไม่ถึง จะมีคนตกงานอีกมากและไม่มีอะไรจะกิน ผมรู้สึกตระหนกกับสถานการณ์นี้เหลือเกิน” Eduardo Vasquez บาทหลวงในโบสถ์คาทอลิกแห่งคริสตจักรสังฆมณฑล Caloocan หนึ่งในเขตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกรุงมะนิลากล่าว
ก่อนล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น บาทหลวง Vasquez ออกเยี่ยมเยียนชุมชนสลัมทุกวัน เพื่อพบปะกับผู้คนที่เหลือศรัทธาในชีวิตน้อยเต็มที รวมถึงผู้คนที่ไม่สามารถซื้อโทรศัพท์มือถือได้ และผู้คนที่อดอยากยากไร้ ซึ่งไม่มีสิ่งใดเหลือในชีวิตยกเว้นศรัทธาต่อพระศาสนา แต่การสวดอ้อนวอนเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพออีกแล้วสำหรับประเทศที่นับถือคาทอลิกอยางเคร่งครัดเช่นฟิลิปปินส์
ด้วยเหตุนี้บาทหลวง Vasquez จึงละทิ้งเสื้อคลุมบาทหลวงของเขาชั่วคราว เพื่อสวมชุด PPE ที่ประกอบด้วยหน้ากาก แว่นตา รองเท้ายาง พร้อมด้วยถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง เข้าสู้สถานการณ์ “นี่คือมหาสงคราม และผมต้องใช้ศรัทธานำทางเพื่อที่จะรับใช้ผู้อื่น เพราะผู้คนกำลังอดอยาก”
อีกด้านหนึ่งของถนนมีรถจี๊ปนีย์จอดอยู่ 2 คัน ซึ่งเป็นรถประจำทางสัญชาติฟิลิปปินส์สีสันสดใสที่แล่นไปตามถนนสายต่าง ๆ ของประเทศ ชายสามคนยืนอยู่ตรงหน้ารถ มีป้ายกระดาษแข็งห้อยคอขอความช่วยเหลือเป็นเงินไม่กี่เปโซ หรือจะเป็นของกินก็ได้ในมือที่ยื่นออกมาไขว่คว้าหาความหวัง พวกเขาถือขวดพลาสติกที่ถูกผ่าครึ่งโดยมีเหรียญสองสามเหรียญอยู่ข้างใน
ใกล้ ๆ กันมีขอทานข้างถนนผอมโซคนหนึ่งในบรรดาขอทานหลายคน ชายผู้นั้น คือ “Diosdado Padilla” วัย 56 ปี ที่ก่อนโรคระบาดจะมาถึง เขาเป็นเจ้าของและเป็นคนขับรถจี๊ปนีย์ที่ภูมิใจในตัวเอง แต่ตอนนี้เขาตกงานและไม่มีที่อยู่อาศัย “สถานการณ์ของเราในตอนนี้สาหัสมาก เราไม่ได้รับอนุญาตใหขับรถจี๊ปนีย์ เราเลยต้องขอทานแทน บางครั้งเราก็ยืนขอบนถนน บางครั้งก็ไปขออยู่หน้าศาลากลาง” ในช่วงหลายเดือนของการระบาด Padilla ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย ไม่มีเงินช่วยเหลือ ไม่มีอะไรทั้งนั้น
“เราไม่ขออะไรมาก เราแค่อยากได้รับอนุญาตให้ทำงานอีกครั้ง เราต้องการทำงาน ไม่ได้อยากขอทาน” Padilla กล่าว
เขาต้องสูญเสียอพาร์ตเมนต์ไป เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในรถจี๊ปนีย์แทน และได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องน้ำในปั๊มน้ำมันเพื่ออาบน้ำ เขาบอกว่าบางทีก็ไม่ได้กินอาหารหลายวัน และได้แต่อาศัยหลับนอนอยู่ในรถจี๊ปนีย์มาเกือบห้าเดือนแล้ว”
บาทหลวง Vasquez กลายมาเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่สำหรับคนอย่าง Diosdado Padilla ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 บาทหลวง วัย 47 ปีผู้นี้ได้ยืนอยู่แนวหน้า เพื่อร่วมต่อสู้กับผลกระทบต่าง ๆ ที่มาพร้อมไวรัส “ภารกิจของผมในฐานะนักบวช คือ การรวบรวมผู้คนที่ สังคมมองว่าเป็นขยะ” ตอนนี้เขาได้รับฉายาว่าคุณพ่อ Ponpon ในภาษาถิ่นของ Bicol จังหวัดบ้านเกิดของเขา คำว่า “Ponpon” นี้หมายถึง การรวบรวมบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งมีนัยยะสื่อถึงการรวบรวมผู้คนของบาทหลวง Vasquez นั่นเอง
Photo Credit: Veejay Villafranca
แต่คุณจะรวบรวมผู้คนได้อย่างไรในเมื่อตัวคุณเองและพวกเขาเหล่านั้นยังคงติดอยู่ท่ามกลางความกลัวและเคอร์ฟิวที่เข้มงวด
บาทหลวง Vasquez เริ่มต้นด้วยการให้บริการคริสตจักรออนไลน์ เมื่อสถานที่สักการะถูกสั่งปิด แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เขาจึงขอให้อธิการจัดหาชุดป้องกันให้กับเขาและผู้ช่วย ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ออกไปเยี่ยมผู้คนในละแวกของเขาเป็นประจำอีกครั้ง รวมทั้งให้แบ๊บติสต์เด็ก ๆ และอวยพรคนตายในงานศพ นอกจากนี้เขายังนำสวดมนต์กลางแจ้งบนถนนโดยใชโทรโข่ง เพื่อให้คนที่ติดอยู่ในอพาร์ตเมนต์ได้ยินเสียงเขา ทุกคืนเขาจะแจกจ่ายอาหาร 200 กล่องให้กับผู้ที่หิวโหยและไร้ที่อยู่อาศัยในย่าน Caloocan ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งความทุกข์ทรมานที่เขาเห็นตามท้องถนนนั้นช่างท่วมท้น จนเขาต้องเปิดโบสถ์ให้เป็นที่พักพิงแก่ผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก จนกว่าพวกเขาจะสามารถก้าวต่อด้วยตัวเองอีกครั้ง
โรคระบาดครั้งนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่บาทหลวง Vasquez เคยประสบพบเจอในชั่วชีวิตของเขา แม้ว่าตัวเขาเองจะมีประสบการณ์มากมายกับวิกฤตการณ์สงครามและภัยธรรมชาติก็ตาม เช่น ในปี 2551 เขาถูกย้ายไปที่เกาะ Mindanao ณ ใจกลางของสงครามระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมกับกองทัพฟิลิปปินส มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและอีกหลายหมื่นคนถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอน
บาทหลวง Vasquez ได้เปลี่ยนโบสถ์ของเขาให้เป็นศูนย์อพยพสำหรับผู้ลี้ภัยจากทุกศาสนา จากนั้นในปี 2556 พายไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้พัดถล่มฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน บาทหลวงผู้นี้ก็คอยให้ความช่วยเหลือคน และก่อนที่เขาจะถูกย้ายมาประจำที่ Caloocan เขาเคยเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณให้กับผู้ก่อการร้าย ผู้ค้ายาเสพติด ผู้นำทางทหาร พวกจิฮัด ในโครงการคุ้มครองพยานของรัฐบาล
“และตอนนี้ก็ถึงตาของ COVID-19” เขาพูดพลางใช้นิ้วไล้ผมเส้นบางพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ และผงกหัวไปมา แต่ไวรัสตัวนี้จะไม่หยุดผมจากภารกิจที่นักบวชควรทำหรอก คนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว หมอ คนเก็บขยะ และสัปเหร่อ พวกเขาทุกคนต่างทำตามหน้าที่ของตน คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าคริสตจักรไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้ความสิ้นหวังจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในแต่ละวัน แต่เสียงร้องอ้อนวอนต่อพระเจ้าในฟิลิปปินส์กลับดังขึ้นยิ่งกว่า “ชาวฟิลิปปินส์มองว่านักบวชคือความหวัง แต่ความหวังคือสิ่งที่ผู้คนเริ่มสูญเสีย หลายคนมองไม่เห็นทางออกอีกต่อไปและกำลังคิดฆ่าตัวตาย”
หนึ่งในนั้นได้พยายามและล้มเหลว และ Jebrix Labitoria คือชายหนุ่มผู้นั้น ซึ่งตอนนี้ใช้เวลาจันทร์-ศุกร์ของทุกสัปดาห์อยู่บนชั้นสองของอาคาร หลังโบสถ์ของบาทหลวง Vasquez บนโต๊ะทำงานที่ล้อมรอบด้วยกองผ้า แกนพันด้าย และอุปกรณ์ต่าง ๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่แต่งแต้มด้วยการฮัมเพลงตามจังหวะของจักรเย็บผ้า ถัดจากเขาคือ Maridel แฟนสาวของเขานั่นเอง ทั้งคู่กำลังช่วยกันเย็บหน้ากาก ผ้ากันเปื้อนและผ้าปูโต๊ะ โดยได้รับเงิน 7,200 เปโซต่อเดือน หรือประมาณ 120 ยูโรเป็นค่าตอบแทน มันเป็นเงินไม่มาก แต่ก็มากพอที่จะช่วยให้มีชีวิตรอดต่อไป
เมื่อบาทหลวง Ponpon ได้ยินเรื่องราวการพยายามฆ่าตัวตายของ Jebrix เขารู้สึกสะเทือนใจอย่างมากกับความสิ้นหวังของคนทั้งคู่ บาทหลวงผู้เปี่ยมเมตตาจึงเสนองานให้แก่คนทั้งคู่ และตั้งแต่นั้นมาทั้งสองก็ช่วยกันเย็บผ้าให้กับคณะบาทหลวง และตอนนี้พวกเขาก็สามารถดูแลลูกชายได้อย่างเดิมแล้ว
“บาทหลวง Ponpon เป็นผู้ช่วยให้เรามีชีวิตรอดอย่างแท้จริง” Jebrix Labitoria กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
- Hope in Short Supply Amid Pandemic and Economic Collapse. www.spiegel.de
เรื่องโดย
