ทุกคนรู้จักคำว่า “โลกร้อน” ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญมายาวนานหลายปี และปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกกำลังมุ่งหาทางออก โลกร้อนส่งผลกระทบกับอุณหภูมิโลก กระทบกับสิ่งแวดล้อม และเป็นสาเหตุของสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้ดูไกลตัวเกินกว่าจะใส่ใจ และเกินกำลังจะแก้ไขด้วยใครเพียงคนเดียว ภาวะโลกร้อนจึงเป็นปัญหาที่ถูกละเลยอยู่บ่อย ๆ
การมองว่าภาวะโลกร้อนเกินตัวเกินกำลังคน ๆ เดียวจะจัดการนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะสัดส่วนก๊าซเรือนกระจกจากครัวเรือนมีเพียง 10.9 % เท่านั้น เรียกได้ว่าประหยัดพลังงานในบ้านมากแค่ไหนก็ช่วยโลกได้นิดเดียว
มลพิษทางอากาศที่พาให้โลกร้อนส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่งมากกว่า อย่างไรก็ตาม ต่อให้เราไม่ใช่ต้นตอหลักของปัญหา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราได้รับผลด้วยกันหมดทุกคนเพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน
แล้วผลกระทบจากโลกร้อนโดยตรงต่อเราคืออะไร? แน่นอนว่าข้อแรกที่ทุกคนนึกถึงและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ คืออากาศที่ร้อนขึ้นจนใช้ชีวิตยากเหลือเกิน เครื่องปรับอากาศกลายเป็นปัจจัยที่ห้า การออกไปข้างนอกช่วงกลางวันก็ต้องพกร่มและพัดลมมือถือ ถึงตรงนี้แล้วเหมือนว่าเราจะพอเอาตัวรอดไปได้ก็จริง แต่ผลกระทบจากโลกร้อนไม่ได้มีแค่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้น สุขภาพของเราก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
โลกร้อน VS โรคหัวใจ
ผลการวิจัยเบื้องต้นที่นำเสนอใน Scientific Sessions 2020 ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า พื้นที่สีเขียว คุณภาพของอากาศ อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ “เราพบว่าพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นและอากาศที่มีคุณภาพดีขึ้นสัมพันธ์กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจที่ลดลง” กล่าวโดย ดร. วิลเลียม เอตเกน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และสมาชิกจากทีมวิจัยภายใต้ความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไมอามี มิลเลอร์(University of Miami Miller School of Medicine) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลแจ็คสัน เมมโมเรียล มหาวิทยาลัยไมอามี (University of Miami / Jackson Memorial Hospital) แห่งรัฐฟลอริดา
นักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่สีเขียวกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โดยการประเมินพื้นที่สีเขียวใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายของ NASA ประกอบกับ Normalized Difference Vegetative Index: NDVI ทำหน้าที่วัดความยาวคลื่นของแสงแดดที่มองเห็นได้และเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า NIR (Near Infrared: NIR คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงความยาวคลื่น 800 – 2,500 นาโนเมตร) ที่สะท้อนจากพื้นผิวโลกผ่านภาพถ่ายดาวเทียมของ NASA ผลการประเมินยิ่งสูง ยิ่งแสดงถึงจำนวนพื้นที่สีเขียว เนื่องจากคลอโรฟิลล์มีคุณสมบัติดูดซับแสงที่มองเห็นได้และสะท้อนคลื่นแม่เหล็ก NIR ส่วนข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหัวใจ (Centers for Disease Control and Prevention’s Interactive Atlas of Heart Disease)
จากผลการวิเคราะห์ พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.10 ยูนิต อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในผู้ใหญ่จะลดลง 13 ราย/100,000 ราย
และ ฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้น 39 ราย/100,000 ราย
“เพื่อร่างกายของเราโดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด การพัฒนามาตรการและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างมาก รัฐควรวางนโยบายที่ผลักดันให้เกิดพื้นที่สีเขียว อากาศที่ดี และน้ำสะอาดพร้อมกันกับแก้ปัญหาการปนเปื้อนและมลพิษในสิ่งแวดล้อม” ดร. วิลเลียมเสริม
นอกจากนี้ ดร. วิลเลียมยังประกาศแนวทางการพัฒนาการวิจัยเรื่องนี้ต่อไป “เราจะทำการศึกษาระยะยาวในไมอามี เพื่อประเมินว่าการอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลกับอัตราการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่”
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบและใกล้ตัวมากกว่าที่ใครหลายคนคิด แม้ว่าจะไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่นักวิจัยต่างมีความหวังว่าผลการทดลองครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการทดลองทางคลินิก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เพื่อสุขภาพและหัวใจของทุกคน
ที่มา
- More green spaces can help boost air quality, reduce heart disease deaths. https://newsroom.heart.org/news
- Emissions by sector. https://ourworldindata.org/emissions-by-sector