เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1943 เกิดการโจมตีทางอากาศของฝูงบินทิ้งระเบิดเยอรมนีต่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ท่าเรือบารี (Bari) ประเทศอิตาลี โดยฝ่ายเยอรมนีได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีเรือรบ SS John Harvey ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อเรือในท่าเรือจมลง ผู้คนต่างพากันทิ้งตัวลงไปในน้ำที่มีสารพิษซึ่งเกิดจากการรั่วไหลของสินค้าที่ขนส่งมาอย่างลึกลับในเรือ Harvey ซึ่งนั่นก็คือระเบิดก๊าซมัสตาร์ดจำนวน 2,000 ลูก!
“กะลาสีเรือต่างเปียกชุ่มไปด้วยก๊าซมัสตาร์ดเหลว หรือมัสตาร์ดกำมะถันที่ลอยอยู่อย่างหนาแน่นบนพื้นน้ำ ซึ่งผู้คนไม่เคยจมอยู่ในก๊าซมัสตาร์ด” Susan Smith นักประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Toxic Exposures (ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันของก๊าซมัสตาร์ดในสงครามและเคมีบำบัด) กล่าว
จากจำนวนประชากรประมาณ 600 คนที่ได้รับการรักษาจากการสัมผัสกับมัสตาร์ดกำมะถันที่ท่าเรือ มีจำนวน 83 คนเสียชีวิต มัสตาร์ดกำมะถันบางส่วนที่รั่วไหลจากเรือกลายเป็นไอก่อให้เกิดเมฆพิษที่ลอยอยู่เหนือเมืองบารี เผยให้เห็นผู้คนอีก 250,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,000 คน
ทางสหรัฐฯ ได้ส่งพันโท Stewart Alexander แพทย์จากนิวเจอร์ซีย์ เพื่อไปตรวจสอบโศกนาฏกรรมดังกล่าว Alexander สังเกตว่าก๊าซมัสตาร์ดทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่เขายังสงสัยว่าผลกระทบของมันนั้นอาจช่วยในการรักษามะเร็งบางชนิดได้ Smith กล่าว “เพราะมันช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในไขกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน”
“ก๊าซมัสตาร์ด” เป็นชื่อของก๊าซพิษซึ่งมีสีเหลืองน้ำตาลเหมือนกับสีของมัสตาร์ด และมีกลิ่นฉุน โดยเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าก๊าซชนิดนี้สามารถทำให้ผิวหนังพุพอง ตาระคายเคือง และทำลายปอด อาวุธเคมีชนิดนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกใช้ครั้งแรกโดยชาวเยอรมันในปี ค.ศ. 1917 “มันคือราชาแห่งก๊าซในสงครามโลกครั้งที่ 1” Smith กล่าว
เมื่อครั้งอุบัติการณ์ท่าเรือบารี อาวุธเคมีถูกห้ามนำมาใช้ในสงคราม แต่หลายประเทศก็ยังคงศึกษาและพัฒนาอาวุธเคมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันประเทศและการรุกรานจากผู้ล่าอาณานิคม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารจากหลากหลายกองทัพ รวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และอังกฤษ มักได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมการทดสอบ โดยการให้สูดดมก๊าซ การฉีดพ่น หรือการได้รับแผ่นแปะกับสารมัสตาร์ด เพื่อศึกษาผลกระทบของก๊าซ และแพทย์หลายคนที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเหล่านั้นจะทำการตรวจสอบการใช้เพื่อการรักษาที่อาจเกิดขึ้น
หลังจากการวิจัยและทดลองในสัตว์ นักวิจัยทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้พยายามฉีดมัสตาร์ดกำมะถัน และสารที่ค่อนข้างอ่อนกว่าอย่างมัสตาร์ดไนโตรเจน เข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วยมะเร็งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 นี่เป็นครั้งแรกที่มีการให้การรักษาโรคมะเร็งอย่างเป็นระบบ “มันจะทำให้ทั้งร่างกายปั่นป่วน” Smith กล่าว “นั่นพิสูจน์แล้วว่ามันมีประโยชน์ เมื่อต้องจัดการกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด”
เนื่องจากการศึกษาในมนุษย์เหล่านั้นถูกจัดประเภทไว้ เอกสารรายงานผลการวิจัยจึงไม่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงปี ค.ศ. 1946 ในช่วงหลายปีหลังการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
“การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยใช้มัสตาร์ดไนโตรเจน” แพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ สามารถบรรเทาอาการได้เพียงสั้น ๆ ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาไม่ได้บอกผู้ป่วยว่าพวกเขาได้รับการรักษาด้วยก๊าซมัสตาร์ดหรือเป็นยาที่ได้มาจากมัน
เพื่อไขความกระจ่างว่า อนุพันธ์ของก๊าซมัสตาร์ดสามารถต่อสู้กับเนื้องอกได้อย่างไร Alexander Haddow นักเคมีในปี ค.ศ. 1946 ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่แสดงว่าส่วนใดของมัสตาร์ดไนโตรเจนที่จำเป็นสำหรับคุณสมบัติในการฆ่ามะเร็ง เขาจัดการกับโมเลกุล เปลี่ยนอะตอม และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่มีต่อเนื้องอกในหนู
Photo Cerdit: mustard gas: a legacy / The independent Uganda WWI
ไม่น่าแปลกใจว่ายาที่ได้มาจากก๊าซมัสตาร์ดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงยังคงปรับแต่งยาเหล่านี้เพื่อลดความเป็นพิษและปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วย โดยโครงสร้างโมเลกุลที่ Haddow ตีพิมพ์คล้ายกับยา Chlorambucil ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการรับรองในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1957 และยังคงใช้ในปัจจุบันสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีแอลแอล (Chronic Lymphocytic Leukaemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin) และยา Mustargen หรือ Mechlorethamine ซึ่งเป็นมัสตาร์ดไนโตรเจนที่ยังคงใช้เป็นยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งหลายชนิดรวมทั้ง Lymphosarcoma และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด
*ก๊าซมัสตาร์ด (Mustard gas) เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายหอมหรือกระเทียม ละลายน้ำได้เล็กน้อย หากได้รับก๊าซความเข้มข้น 200 มิลลิกรัม-นาทีต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้เกิดภาวะชะงักงัน ผิวหนังไหม้ พุพอง ระคายเคืองตา มีอาการคันอย่างรุนแรง แสบจมูกแน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันได้มีการนำสารกลุ่มนี้มาใช้เป็นยารักษามะเร็ง
ที่มา
- Carolyn Wilke. From Chemical Weapon to Chemotherapy, 1917–1946. www.the-scientist.com/foundations
- ปิยะนุช ปี่บัว. อาวุธเคมี. www.sscthailand.org