Kind Creatures

“เคช่า” เจ้าเหมียวเพียงหนึ่งเดียว บนหมู่เกาะสปิตส์บาร์เกิน


บนหมู่เกาะสปิตส์บาร์เกิน หมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ ตั้งอยู่ติดกับมหาสมุทรอาร์กติก ทะเลนอร์วีเจียนและทะเลกรีนแลนด์ และได้รับการยกเว้นให้มีสถานะพิเศษ โดยจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีและเขตปลอดทหาร รวมทั้งเป็นบ้านของชาวนอร์เวย์และชาวรัสเซียกลุ่มเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองบาเรนต์สเบิร์ก

นอกจากสถานะพิเศษที่หมู่เกาะแห่งนี้ได้รับแล้ว ความไม่เหมือนใครอีกอย่างหนึ่งคือ กฎหมายห้ามนำ “แมว” มาเป็นสัตว์เลี้ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจากพวกมันมีสัญชาตญาณนักล่าอยู่ในตัว เมื่อมาอยู่บนเกาะอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล แต่ “เคช่า” เหมียวส้มขนฟูแห่งหมู่เกาะสปิตส์บาร์เกิน กลับได้รับการยกเว้น พร้อมได้รับสถานะพิเศษเสียอย่างนั้น



หมู่เกาะสปิตส์บาร์เกิน, ประเทศนอร์เวย์ – ประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3,000 คน บนหมู่เกาะแห่งนี้ ซึ่งมีเพียงหมู่เกาะเดียวเท่านั้นที่มีผู้คนอาศัยอยู่นั่นคือ หมู่เกาะสฟาลบาร์หรือสวาลบาร์ด (Svalbard – Свальбард) ตั้งอยู่ทางตะวันตก ติดกับมหาสมุทรอาร์กติก โดยอุณหภูมิในฤดูหนาวจะลดลงถึง -16 °C และเพิ่มขึ้นอีก 7 °C ในฤดูร้อน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนอร์เวย์ และมีชาวรัสเซียประมาณ 470 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ บาเรนต์สเบิร์ก (Barentsburg – Баренцбург) ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของสฟาลบาร์

Photo Credit: only cat in svalbard/odditycentral.com


แม้ชาวรัสเซียจะเป็นประชากรส่วนน้อยของเกาะ แต่พวกเขาก็สามารถทำการวิจัยและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากสฟาลบาร์ได้รับการยกเว้นให้มีสถานะพิเศษ และถูกจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจเสรีและเขตปลอดทหาร ความพิเศษของสฟาลบาร์ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะบนหมู่เกาะแห่งนี้มีกฎหมายเข้มงวดในการนำเข้าสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ “แมว” แต่ “เคช่า” เจ้าเหมียวเพียงหนึ่งเดียวของเกาะ ก็ได้รับสถานะพิเศษเป็นของมันเช่นกันท่ามกลางร่องรอยสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่หลงเหลืออยู่ ทั้งโบสถ์ไม้ และอนุสรณ์สถานเลนิน ปรากฏร่างเล็ก ๆ ของ

“เคช่า” เจ้าเหมียวส้มขนฟูแห่งเกาะสฟาลบาร์ คอยทำหน้าที่ต้อนรับเหล่าแขกผู้มาเยือน และเป็น “แมว” เพียงตัวเดียวในสถานที่แห่งนี้ ที่ได้รับการยกเว้นสถานะ ให้กลายเป็น “สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก”


ตามกฎหมายการนำเข้าสัตว์เลี้ยง ระบุว่า ห้ามนำ “แมว” เข้ามาบนเกาะแห่งนี้โดยเด็ดขาด ยกเว้นนกกรงจากฟินแลนด์ กระต่าย สัตว์ฟันแทะขนาดเล็กจากนอร์เวย์และสวีเดน โดยทั้งหมดจะต้องมาพร้อมกับเอกสารประจำตัวที่ออกโดยสัตวแพทย์ของประเทศนั้น หากต้องการนำสุนัขเข้ามาเลี้ยง หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนอร์เวย์อนุญาตให้นำเข้าได้ แต่ต้องลงทะเบียนอย่างถูกต้อง หากสุนัขเปลี่ยนเจ้าของ ตาย หรือย้ายไปอยู่ประเทศอื่น จะต้องแจ้งทางการให้ทราบโดยทันที

Photo Credit: only cat in svalbard/odditycentral.com


สาเหตุที่ทางการนอร์เวย์ไม่อนุญาตให้เลี้ยงแมวบนเกาะสฟาลบาร์ เนื่องจากมีความกังวลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ หากนำแมวเข้ามาอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล เพราะแมวอาจจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้า หรือติดเชื้อชนิดอื่น ๆ จากสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกและกระต่ายป่าได้

ส่วน เคช่า มาอยู่บนเกาะสฟาลบาร์ตอนไหน ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่สำหรับ Denis Yurison ชาวบ้านละแวกนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บพอร์ทัล AltaPress ว่า แมวถูกลักลอบนำเข้ามาโดยชาวรัสเซียในช่วงต้นปี 2000 และจดทะเบียนเป็นสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก

แม้เคช่าจะถูกนำเข้ามาอย่างลับ ๆ แต่มันก็ได้รับการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีเจ้าของที่รักและพร้อมมอบความอบอุ่มให้มันอยู่เสมอ ขณะที่ชีวิตของเคช่าก็ไม่ได้เป็นคุณชายประจำบ้านแต่อย่างใด ในทางกลับกันเคช่าใช้ชีวิตเหมือนแมวพเนจรมากกว่า มันมักจะเข้ามาคลอเคลียขออาหารจากชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวแถวนั้นอยู่เสมอ จนพวกเขาตั้งฉายาให้เคช่าว่า Ginger Arctic Fox

อย่างไรก็ตาม Olga Kostrova ผู้จัดทัวร์บนหมู่เกาะสฟาลบาร์กล่าวว่า “ไม่ต้องห่วงนะ เคช่าเขามีเจ้าของ แต่ชอบทำตัวเป็นแมวจรจัดเท่านั้นเอง”


“เคช่าไม่ใช่แมวไร้เจ้าของอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน แต่เขารักอิสระมากเสียจนไม่อยากอยู่แต่ในบ้าน เขาชอบออกมาเดินเล่น สำรวจทุกตารางนิ้วของเกาะ เมื่อพอใจแล้วก็กลับบ้านไปอยู่กับเจ้าของ หากมีคนให้อาหารระหว่างที่เขาออกมาเดินเล่น เคช่าก็จะยิ่งมีความสุข เขาเป็นแมวอิสระตัวจริงเลยล่ะค่ะ” Kostrova กล่าว

Photo Credit: only cat in svalbard/odditycentral.com


“ในปี ค.ศ. 2000 เคช่ามีอายุครบ 12 ปี แล้ว แต่เขายังดูกระชับกระเฉงอยู่เลย” Yulia Litvinova ชาวเมืองสปิตส์บาร์เกินกล่าว

“ฉันไม่เคยเห็นเขาต่อสู้กับสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่หากคุณใช้บริการจากศูนย์ฮัสกี้ในหมู่บ้านบาเรนต์สเบิร์ก คุณควรจะเว้นระยะห่างไว้เยอะ ๆ หน่อยนะคะ เพราะเคช่าน่ะ ขึ้นชื่อว่าชอบโจมตีสุนัข โดยเฉพาะฮัสกี้ที่สุดเลย”

แต่ในวันนี้ มีข่าวลือออกมาหนาหูว่า เคช่า ไม่ใช่แมวตัวเดียวบนหมู่เกาะอีกต่อไป ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2020 นักท่องเที่ยวถ่ายภาพแมวตัวหนึ่งที่คล้ายกับเคช่ามาก แต่เมื่อดูขนของมันดี ๆ ก็จะเห็นว่า ขนของแมวส้มตัวนี้มีลักษณะแตกต่างจากเคช่าเล็กน้อย ขณะเดียวกัน Yulia บอกว่า เธอเริ่มสังเกตเห็นแมวตัวอื่น ๆ บนเกาะเช่นกัน แต่เคช่าก็ยังได้รับความนิยมมากที่สุด

“เคช่าทำให้ฉันมีความสุขทุกครั้ง เมื่อเขาปรากฏตัวในช่วงพักกลางวัน แม้เขาจะอายุเยอะ ขนก็เยอะขึ้น ส่วนสายตาก็เริ่มเลือนราง แต่เขายังคงเป็นแมสคอตหลักประจำหมู่บ้านบาเรนต์สเบิร์กอยู่ดี

ตามตำนานเล่าว่า หากคุณลูบหัว หรือเกาคางเคช่า พร้อมกับขอพรไปด้วย พรนั้นจะกลายเป็นจริง” Litvinova กล่าวปิดท้าย



ที่มา


เรื่องโดย