Kind Sci

PHOBOS: ดวงจันทร์ ความกลัว และบุตรแห่งเทพสงคราม


…1.8 เซนติเมตรต่อปี…

ระยะน้อยนิดเมื่อเทียบกับเวลาที่นานถึง 365 วัน คือระยะวงโคจรของดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ที่เคลื่อนขยับเข้าใกล้ดาวอังคาร และในอีก 50 ล้านปีข้างหน้า ดวงจันทร์บริวารจะพ่ายแพ้ต่อแรงดึงดูดและตกลงสู่พื้นผิวดาวเคราะห์หรืออาจแตกสลายกลายเป็นวงแหวนให้ดาวอังคาร


Moons of Mars

ทฤษฎีการมีอยู่ของดวงจันทร์บริวารทั้ง 2 ดวงของดาวอังคารได้รับการเสนอในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 โดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) แม้ว่า ณ ช่วงเวลานั้นจะยังไม่มีหลักฐาน และผู้คนก็ยังคิดว่าดาวอังคารไม่มีพระจันทร์ แต่ เอแซฟ ฮอลล์ (Asaph Hall) นักดาราศาสตร์สัญชาติอเมริกันไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาตามหาดวงจันทร์บริวารของดาวแดงแห่งระบบสุริยะ และในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1877 เอแซฟค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงแรกอย่าง ดีมอส (Deimos) และพบดวงจันทร์โฟบอสในอีก 6 วันถัดมา

การศึกษาเกี่ยวกับดาวอังคารและดวงจันทร์บริวารยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ค.ศ.1975 ที่ยานไวกิ้ง (Viking Program) ออกเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และโครงการ MMX ที่จะออกเดินทางในปี ค.ศ. 2024 เพื่อลงจอดที่ดวงจันทร์โฟบอส รวมถึงเก็บตัวอย่างกลับมายังโลกในปี ค.ศ. 2029

ดวงจันทร์โฟบอสอยู่เหนือพื้นผิวดาวอังคาร 6,000 กิโลเมตร โคจรรอบดาวเคราะห์ 3 ครั้ง/วัน ใช้เวลาเดินทางผ่านฟากฟ้าประมาณ 4 ชั่วโมง ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก


Phobia

คำว่าโฟเบีย (Phobia) แปลว่าความกลัว (Fear) ในภาษาไทย อาการโฟเบียรู้จักกันในชื่อ โรคกลัว “เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น” (โรงพยาบาลเพชรเวช. 2563) ซึ่งโรคนี้ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ด้านจิตใจแต่แสดงออกด้านร่างกาย และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเช่นกัน อาทิ อาการใจสั่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรง วิงเวียน หรืออาจหมดสติ

อาการโฟเบียถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ อาจเป็นได้ทั้งความเจ็บปวดในอดีตที่เป็นบาดแผลในจิตใจ (Trauma) หรืออาจเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

การรักษาอาการโฟเบียที่ได้ผลคือ วิธีพฤติกรรมบำบัด (Behavioral Therapy) ที่จะให้ผู้มีอาการกลัวค่อย ๆ ทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่กลัว จนเกิดความเคยชิน และกลัวน้อยลง หรือหายกลัวในที่สุด ในบางรายที่มีอาการโฟเบียมากจนไม่สามารถใช้วิธีพฤติกรรมบำบัดได้ แพทย์อาจพิจารณาใช้การรักษาด้วยยา (Pharmacotherapy) เพื่อให้ผู้ป่วยกลัวน้อยลง และเข้ารับการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปด้วยได้

อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุหนึ่งของความกลัวคือความไม่รู้

ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย หรือไม่เหมือนกับชุดข้อมูลที่ได้รับมา สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอคติหรือความกลัวในใจได้ เช่น อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) ที่มีสาเหตุจากหลายอย่าง สังคมปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) การเหมารวม (Stereotype) หรือคำสอนทางศาสนา ทัศนะของคนบางคนอาจถูกจำกัดกรอบด้วยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ไม่สามารถยอมรับความแตกต่าง หรือการเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ห้ามแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศ ทำให้เกิดความกลัวในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยพบมาก่อน


อย่างไรก็ตาม เมื่อพื้นที่ของชุมชน LGBTQ+ เพิ่มมากขึ้นในสังคม การแสดงออกถึงอัตลักษณ์จะช่วยเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คน และนำไปสู่การยอมรับในที่สุด จากการศึกษา “Beyond “born this way?” reconsidering sexual orientation beliefs and attitudes.” นักวิจัยระบุว่า มีคู่รัก LGBTQ+ มากกว่า 10% ที่แต่งงานกัน และการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขา สามารถช่วยเปลี่ยนความคิดของคนที่ต่อต้านการให้สิทธิ์ทางกฎหมายของคู่รัก LGBTQ+ และมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันด้วยเช่นกัน

แล้วพระจันทร์ กับ ความกลัว เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

คำตอบแบบสั้น ๆ ก็คือ ชื่อ “โฟบอส” ของดวงจันทร์โฟบอส เป็นรากศัพท์ของคำว่า “โฟเบีย” นั่นเอง แต่ถ้าตอบแบบยาว ๆ สักหน่อย ก็ต้องย้อนไปที่เรื่องของเทพสงครามแห่งปกรณัมกรีก

Sons of Mars

แอรีส (Ares) เทพแห่งสงครามตามปกรณัมกรีก เป็นหนึ่งใน 12 เทพแห่งยอดเขาโอลิมปัส เป็นชู้รักของเทพีแห่งความรัก อะโฟรไดท์ (Aphrodite) และเป็นคู่ปรับตลอดกาลของเทพีแห่งสติปัญญา อะธีนา (Athena)

เรารู้จักเทพแห่งสงครามผ่านตำนานกรีกอยู่หลายเรื่อง และดูเหมือนว่าแอรีสในทัศนะชาวกรีกจะไม่ได้ดีเท่าไรนัก (เช่น การถูกเปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างอะโฟรไดท์ที่น่าอับอายจนต้องสาปส่งเด็กดูต้นทาง หรือการพ่ายแพ้ในสงครามกรุงทรอยให้กับเทพีแห่งสติปัญญา ทั้งที่ตนเป็นเทพแห่งสงครามแท้ ๆ แถมยังเคยแพ้ลูกครึ่งมนุษย์อย่างเฮอร์คิวลิสอีกต่างหาก) สำหรับชาวกรีกแล้ว แอรีสไม่ใช่เทพที่น่านับถือจากประวัติและผลงานในฐานะเทพแห่งสงคราม สู้นับถืออะธีนา เทพีแห่งสติปัญญาผู้วางแผนรบชนะสงครามกรุงทรอยน่าจะเวิร์คกว่า

 
กลับกัน เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของจักรวรรดิโรมัน เทพแห่งสงครามแอรีส หรือ มาร์ส (Mars) เป็นที่เคารพนับถืออย่างมาก ความศรัทธาของชาวโรมันที่มีต่อมาร์สนั้นมากถึงขั้นเชื่อกันว่า เทพแห่งสงครามองค์นี้คือบิดาแห่ง โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรมอีกด้วย

นอกจากม้าศึก อาวุธ และชุดเกราะ มาร์สยังออกรบพร้อมบุตรอีกสองคน คือ “โฟบอส” และ “ดีมอส” ที่รับหน้าที่ควบม้าศึกออกรบให้บิดาของตนเอง (เป็นที่มาของชื่อดวงจันทร์บริวารของดาวอังคารนั่นเอง)

โฟบอสเป็นภาษากรีก แปลตรงตัวว่าความกลัว ภาพของเทพแห่งความกลัวในปกรณัมกรีกคือชายผู้มีหัวเป็นสิงห์ ปากเว้าเหวอะเห็นฟันคม นัยน์ตาเรืองแสง ให้ความรู้สึกอื่นไม่ได้นอกจาก “ความกลัว”

ในศึกกอกามีลา (Battle of Gaugamela) ระหว่างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช หรืออเล็กซานดรอสที่ 3 แห่งมาเกโดนีอา และพระเจ้าดาไรอัสที่ 3 แห่งเปอร์เซีย นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญด้านการรบที่ทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้รับชัยชนะ พลูทาร์ก (Plutarch) นักประวัติศาสตร์กรีกเล่าว่า มหาราชแห่งเอเชียตะวันตกได้สวดบูชาเทพแห่งความกลัวโฟบอส ทำให้พระเจ้าดาไรอัสที่ 3 เกิดความกลัวจนหนีไปหลังจากทัพถูกตีแตก ความหวาดกลัวเข้าครอบงำเหล่าทหารที่ไร้ผู้นำ เหลือเพียงความพ่ายแพ้ของชาวเปอร์เซีย

ความรู้สึกกลัวไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากเผชิญ แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ความกลัวสามารถสร้างความเกลียดชังและบ่มเพาะอคติในสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ความกลัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่มาจนถึงปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างของทั้งตนเองและผู้อื่น อย่าให้ความกลัวครอบงำจิตใจจนกลืนกินความเป็นมนุษย์ของเราไปเสียหมด เช่นประโยคดังจากสุนทรพจน์ของ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีผู้พาสหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กล่าวไว้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่า “The only thing we have to fear is fear itself.”


ที่มา


เรื่องโดย