ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มหันมาใช้ “แรงงานหุ่นยนต์” อย่างจริงจังมากขึ้น ล่าสุดสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ของเยอรมนี ได้เผยว่า ความหนาแน่นของหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตมากขึ้น
ข้อมูลปริมาณความหนาแน่นของหุ่นยนต์ (Robot Density) ในภาคอุตสาหกรรม จากผลสำรวจใน World Robotics 2019 (อ้างอิงจาก statista.com) พบว่า ประเทศที่มีความหนาแน่นของการใช้แรงงานหุ่นยนต์มากที่สุดทั่วโลก 10 อันดับแรกในปี 2018 มีดังนี้ (อัตราส่วนการแทนที่ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน 10,000 คน)
ประเทศ | ค่าความหนาแน่น/ยูนิต |
1. สิงคโปร์ | 831 |
2. เกาหลีใต้ | 774 |
3. เยอรมนี | 338 |
4. ญี่ปุ่น | 327 |
5. สวีเดน | 247 |
6.เดนมาร์ก | 240 |
7. ไต้หวัน | 221 |
8. สหรัฐอเมริกา | 217 |
9. อิตาลี | 200 |
10. เบลเยียม | 188 |
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีความหนาแน่นของหุ่นยนต์มากที่สุด 831 ยูนิต คือ “สิงคโปร์” รองลงมา 774 ยูนิต คือ “เกาหลีใต้” และความหนาแน่นที่ 338 ยูนิต คือ “เยอรมนี”
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความหนาแน่นของหุ่นยนต์ในประเทศสิงคโปร์นั้น สืบเนื่องมาจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าพัฒนาประเทศให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” ภายในปี 2020 โดยการเพิ่มสัดส่วนแรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายแห่งชาติของรัฐบาล ทั้งเคยประกาศว่าจะพยายามผลักดันให้บรรลุเป้าหมายคือ การเป็นชาติอันดับหนึ่งที่ใช้แรงงานหุ่นยนต์สูงสุดในโลกอีกด้วย
ส่วนเกาหลีใต้นั้น ความหนาแน่นของหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากแรงสนับสนุนของรัฐบาลที่ออกมาประกาศตั้งแต่ปี 2016 ว่าจะทุ่มเม็ดเงิน 450 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยใช้เงินจำนวนนั้นสำหรับการพัฒนาศูนย์วิจัยและการพัฒนาระดับองค์กร
และ “เยอรมนี” เจ้าแห่งผู้ผลิตรถยนต์และตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยแรงงานหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว และในปี 2018 พบว่ามีแรงงานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 338 ยูนิต ต่อแรงงานคน 10,000 คน เทียบกับปีก่อนหน้านั้นที่มี 309 ยูนิต
นอกจากนี้ หากแยกความหนาแน่นของหุ่นยนต์ตามภูมิภาคโลกโดยเฉลี่ยต่อแรงงาน 10,000 คน พบว่า “ยุโรป” มีความหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 114 ยูนิต “อเมริกา” มีความหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 99 ยูนิต และ “เอเชีย” มีความหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 91 ยูนิต
การใช้หุ่นยนต์ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์ และในระยะหลังประเทศตลาดเกิดใหม่แถบเอเชีย รวมทั้งไทยเองก็เริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้นเช่นกัน การศึกษาเรียนรู้ และเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสังคม และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
แม้ทิศทางการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทว่ากลับมีผลกระทบอยู่เช่นกัน โดยรายงานของสถาบัน MCKinsey Global Institute ได้เผยถึงข้อมูลการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีแรงงานจำนวนมากถึง 400-800 ล้านคนทั่วโลกที่มีความเสี่ยงภาวะตกงาน หรือถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือหุ่นยนต์ และอาจทำให้งานบางประเภทสูญหายไป หรืออาจมีงานประเภทใหม่เกิดขึ้นมา
ที่มา
- Gripping M&A – The extending arm of robotics. www.dcadvisory.com
- หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?. www.bot.or.th/Thai
- “แรงงานหุ่นยนต์” บุกเอเชีย “เกาหลีใต้” แชมป์ใช้ “โรบอต” แทนมนุษย์. www.prachachat.net/world-news
- Manufacturing industry-related robot density in selected countries worldwide in 2019. www.statista.com/statistics