“เสรีภาพจงเจริญ!” คำกล่าวที่ได้ยินจนคุ้นหู อาจทำให้หลายคนหลงลืมไปแล้วว่า เสรีภาพคือสิ่งปกติสามัญที่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายพึงมอบให้ประชาชน แต่ในปัจจุบันคำกล่าวนี้กลับถูกนำมาเรียกร้องในประเทศที่อ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเสียอย่างนั้น
การออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่ปราศจากอธิปไตยเคยเกิดขึ้นมานับไม่ถ้วน หนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมในประเทศเยอรมนีมาจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นจาก “ขบวนการกุหลาบขาว” (White Rose) ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาเพียงหกคน หน้าที่ของพวกเขาคือการสร้างความตระหนักถึงความสวยงามของเสรีภาพ แม้ว่าสุดท้ายแล้วเส้นทางการต่อสู้ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบจะนำมาสู่ความตายก็ตาม
แล้วเส้นทางการร่วงหล่นของขบวนการกุหลาบขาวจะเป็นอย่างไร KiNd People จะพาไปสำรวจร่องรอยประวัติศาสตร์ที่เจ้าของประเทศพยายามนำกลับมาเรียนรู้ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนมาจนถึงทุกวันนี้
ปี ค.ศ. 2021 ครบรอบ 100 ปี การจากไปของ โซฟี โชล หญิงสาวผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบนาซี ภายใต้การนำของจอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ชายผู้ช่วงชิงชีวิตของผู้บริสุทธิ์กว่า 11 ล้านราย ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์เพียงคำสั่งเดียว โดยอาศัยแนวคิดที่ว่าจะต้องคงไว้เพียงชาติพันธุ์เยอรมันเพียงชาติพันธุ์เดียว (Volksgemeinschaft) ซึ่งเป็นการสร้างสังคมใหม่ เป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น ไม่มีชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีด ไม่มีชนชั้นปกครองอีกต่อไป ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันบนฐานของเชื้อชาติ แต่ประชาชนในสังคมใหม่จะต้องเป็นเชื้อชาติเยอรมันเท่านั้น
นอกจากแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์ที่สุดโต่งแล้ว ระบอบเผด็จการนาซียังได้ปฏิวัติวิธีคิดเกี่ยวกับ Our thoughts are free. กักขังอิสระทางความคิดของผู้คน หล่อหลอมให้พวกเขามีวิธีคิดแบบเดียวกัน ผ่านระบอบการศึกษา ระบบการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อความคิดถูกขัดเกลาให้เป็นไปในทิศทางดียวกัน การขัดขืนสิ่งที่ “ท่านผู้นำ” พยายามปลูกฝังจึงเป็นเรื่องที่ยากเหนือจินตนาการ
โซฟี โชล และฮันส์ พี่ชายของเธอ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่โดนความคิดของฮิตเลอร์ครอบงำ พวกเขาเต็มใจให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist Party, NSDAP) แบบที่หนุ่มสาวเยอรมันจำนวนมากทำกัน โดยฮันส์ได้เข้าร่วมกลุ่มเยาวชนฮิตเลอร์ (Hitlerjugend) ส่วนโซฟีเข้าร่วมสหพันธ์เยาวชนหญิง (Jungmädelbund) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการปลูกฝังความคิดให้แก่เด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 10-14 ปี เธอสวมชุดยูนิฟอร์มและพันผ้าพันคอสีดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ด้วยความภาคภูมิใจ
Photo Credit: churchtimes.co.uk
อย่างไรก็ตาม ความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ของสองพี่น้อง สร้างความลำบากใจแก่ผู้เป็นพ่ออย่างมาก เนื่องจากนายกเทศมนตรีเมืองฟอร์ชเท็นแบร์กผู้นี้ คัดค้านแนวคิดของพรรคสังคมนิยมแห่งชาติแบบหัวชนฝา แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพวกเขาได้อยู่ท่ามกลางแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งจากครอบครัวและปัญญาชนรอบข้าง ความคิดที่เคยถูกจำกัดให้อยู่เพียงในกรอบ จึงค่อย ๆ ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนนำมาสู่การก่อตั้ง “ขบวนการกุหลาบขาว” ภายในรั้วมหาวิทยาลัยมิวนิคกับสมาชิกกลุ่มอีก 6 คน คือ ฮันส์ โชล, อเล็กซานเดอร์ ชโมเรลล์, คริสตอฟ โพรบส์, วิลลี กราฟ, โซฟี โชล และ เคิร์ต ฮูแบร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยของพวกเขาเอง เพื่อกอบกู้อิสระทางความคิดและเสรีภาพของชาวเยอรมันกลับคืนสู่ปิตุภูมิ
Photo Credit: Sportsocratic
ใบปลิวฉบับที่ 6
□ ■
ด้วยความช่วยเหลือจากฟริทซ์ ฮาร์ทนาเกิล เพื่อนชายคนสนิทของโซฟี ใบปลิวสี่ฉบับแรกของกุหลาบขาว จึงได้รับการตีพิมพ์และแจกจ่ายออกไปในระหว่างวันที่ 27 มิถุนายนถึง 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 “พวกเราจะไม่เงียบ”, “เราคือฝ่ายที่รู้ผิดชอบของพวกคุณ กุหลาบขาวจะไม่ปล่อยให้พวกคุณอยู่กันอย่างสงบสุข” นี่คือหนึ่งในข้อความที่ปรากฏในใบปลิว
จนมาถึงใบปลิวฉบับที่ 5 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กุหลาบขาว ไม่ได้เป็นขบวนการที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความคึกคะนอง พวกเขามุ่งมั่นและจริงจังอย่างมาก ในการเรียกร้องให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิคลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการ
“ชื่อของเยอรมนีจะเสียหายไปตลอดกาล หากเยาวชนเยอรมันไม่ยอมลุกฮือขึ้นคิดบัญชีและไถ่โทษ พร้อมกำจัดผู้ทรมานพวกเขา และสร้างยุโรปที่มีอุดมการณ์ใหม่”
ข้อความส่วนหนึ่งของใบปลิวฉบับที่ 6 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของกลุ่มก่อนที่โซฟีและฮันส์จะถูกตัดสินประหารชีวิต ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943
โซฟีถูกจับกุมในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 เช้าวันนั้นโซฟีและฮันส์ออกจากบ้านไปมหาวิทยาลัยตามปกติ เตรียมนำใบปลิวปึกใหญ่ไปกระจายตามจุดต่าง ๆ แต่ในครั้งนี้ การแจกใบปลิวอย่างสงบของพวกเขาก็ต้องสิ้นสุดลง
ขณะที่โซฟีกำลังเดินขึ้นไปที่ระเบียงชั้นบนสุดของอาคารมหาวิทยาลัย ซึ่งมีห้องโถง Lichthof ขนาดใหญ่ที่ห้อมล้อมด้วยห้องบรรยายที่อาจารย์และนักศึกษารวมตัวกันอยู่ เพียงเสี้ยววินาทีใบปลิวปึกใหญ่ที่เธอกอดไว้ก็ร่วงโปรยปรายจากระเบียงลงสู่เบื้องล่าง
ซึ่งในขณะที่กระดาษกำลังปลิวว่อนอยู่ทั่วโถงอาคาร ภารโรงคนหนึ่งเห็นการกระทำทุกอย่างของโซฟี เขาได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อหน่วยตำรวจลับของนาซี จนทำให้ขบวนการกุหลาบขาวต้องยุติบทบาทลงเพียงเท่านี้
เรียนรู้จากประวัติศาสตร์
□■
แม้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นจะโหดร้ายเพียงใด แต่ประเทศเยอรมนีกลับไม่ได้ต้องการลบเรื่องราวอันดำมืดนี้ออกไป ในทางกลับกันหลายหน่วยงานพยายามรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อเป็นบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลัง
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ นำใบปลิวสตัฟฟ์ลงไปบนพื้นดินให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของพวกเขา ไปรษณีย์แห่งชาติของทั้งเยอรมันตะวันออกและตะวันตก ออกตราไปรษณียากรเป็นเกียรติแก่โซฟีและฮันส์ และในปี ค.ศ. 2021 ทางการเยอรมนีได้ออกเหรียญที่ระลึกถึงโซฟีในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล
Photo Credit: en.wikipedia.org
นอกจากนี้หน้ามหาวิทยาลัยมิวนิคยังได้ตั้งชื่อจตุรัสว่า Geschwister-Scholl-Platz หรือจตุรัสพี่น้องตระกูลโชล ซึ่งจะมีจตุรัสชื่อนี้อยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถรับรู้เรื่องราวอันกล้าหาญของกลุ่มนักศึกษาเพียงไม่กี่คน ในการลุกขึ้นมาต่อต้านฮิตเลอร์ ในยามที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศต่างเอนเอียงเข้าข้างท่านผู้นำอย่างไม่ลืมหูลืมตา
พรรคนาซีอาจกำจัดนักศึกษากลุ่มนี้ลงไปได้ แต่เสียงสุดท้ายที่โซฟีและฮันส์ เปล่งออกมาก่อนสิ้นลมยังคงดังก้องอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์
“เสรีภาพจงเจริญ!”
แม้ใบมีดคมกริบของกิโยตินจะพรากชีวิตของสองพี่น้องตระกูลโชลและสหายในขบวนการ แต่เจตนารมณ์ที่แน่วแน่ยังคงถูกจดจำและส่งต่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลกสืบไป
ที่มา
- นาซีศึกษา : อ่านอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน กับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา. www.the101.world
- ความเข้าใจผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับนาซี และฮิตเลอร์ ผ่านสายตา ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา. waymagazine.org/interview
- โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี: ขบวนการนักศึกษาในเยอรมนีที่เป็นตัวอย่างอารยะขัดขืนจนวันนี้. https://themomentum.co/lostinthought-sophiescholl
- Sophie Scholl: Student who resisted Hitler and inspires Germany. www.bbc.com/news/world
- The story of Nazi resistance fighter Sophie Scholl. www.dw.com/en/the-story-of-nazi-resistance-fighter-sophie-scholl
- Sophie Scholl: Remembering the White Rose activist on what would have been her 100th birthday. www.thelocal.de/sophie-scholl-remembering-the-white-rose-activist