ความยั่งยืน
คืออะไร ?

ทำไมผู้คนต้องแสวงหาความยั่งยืน ?
นิยามความยั่งยืนถูกขังอยู่ในยุคสมัยหรือเปล่า ?
ความยั่งยืนของคนรุ่นพ่อแม่ กับความยั่งยืนในยุคของเรา
เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ ?

แล้วความยั่งยืนของลูกหลานล่ะ... พวกเขามองเห็นและ
ต้องการสร้างให้มันเป็นแบบเดียวกับเราหรือเปล่า ?

นิยามความยั่งยืนมักถูกนำมาใช้กับบริบทของสิ่งแวดล้อม ทว่าหากมองตามความเป็นจริงแล้ว ความยั่งยืนมีพื้นที่อยู่ในทุก ๆ มิติของสังคมและวัฒนธรรม หากเหวี่ยงมนุษย์ออกจากศูนย์กลางความยั่งยืน แล้วให้ธรรมชาติเป็นจุดศูนย์กลางแห่งนิยามความยั่งยืนแทน โลกเราทุกวันนี้คงอาจจะไม่มีหายนะให้มนุษย์ต้องเผชิญจากการกระทำของตัวเอง

วิกฤตโควิด-19 ครั้งล่าสุดที่เรากำลังต่อสู้อยู่ คือ wake up call ครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ไม่ได้ถูกปลุกธรรมดา ๆ แต่เป็นการปลุก “การตื่นรู้” ให้เราตระหนักว่า เวลาที่เราถูกธรรมชาติเอาคืนนั้นสาหัสขนาดไหน ถึงขณะนี้เราก็ยังต้องต่อสู้กับหายนะที่เราก่อขึ้นเองระลอกแล้วระลอกเล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตื่นรู้แล้วก็ควรจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ สัญญาณที่ธรรมชาติส่งมา ให้มนุษย์ใช้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อ ๆ ไป น่าจะเป็นการกระทำที่ยั่งยืนที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้

สัญญาณความยั่งยืน
จากวิกฤตโควิด-19

KiNd ขอชวนคุณมองย้อนกลับไปตั้งแต่เราเริ่มเผชิญวิกฤตใหม่ ๆ ดูภาพเปรียบเทียบก่อนหน้าการเกิดวิกฤตโควิด-19 ในมิติต่าง ๆ และภาพผลกระทบภายหลังการเกิดโรคระบาดที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ

เรายังชวนคุณตั้งคำถามกับผู้ดำเนินอาชีพเก่าแก่ของไทยว่าพวกเขายังคงหยัดยืนดำเนินธุรกิจเล็ก ๆ ฝ่ามรสุมโรคระบาดไปได้หรือไม่อย่างไร?

KiNd ได้สัมภาษณ์เจาะลึกเข้าไปถึงบุคคลที่ถือว่าเข้าใจสัจธรรมของความยั่งยืนมากที่สุด ศึกษาวิธีคิดและการเป็นผู้นำในการปฏิวัติพฤติกรรมบางอย่างของชุมชนจนเกิดแรงกระเพื่อมที่มีนัยสำคัญกับสังคม

แน่นอนว่า หากจะตั้งคำถามเรื่องความยั่งยืนให้ยั่งยืนก็ต้องถามกับคนของอนาคต ที่แม้ปัจจุบันพวกเขาจะเป็นแค่เพียงคนตัวเล็ก ๆ ที่กำลังถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้นำในอนาคต เบ้าหลอมที่เพาะบ่มพวกเขาให้มีความรู้อย่างเพียงพอและเตรียมความพร้อมไว้หรือไม่ และในความคิดของคนแห่งอนาคตเหล่านี้เข้าใจความยั่งยืนว่าอย่างไร และถ้าหากพวกเขาสามารถออกแบบอนาคตของตัวเองได้ พวกเขาต้องการสังคมที่ยั่งยืนในรูปแบบไหน?

และเราอยากพาผู้อ่านไปรู้จักกับคู่หูที่ได้ปัดฝุ่นความฝันของพวกเขาหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เต็ม ๆ ความฝันที่อยู่บนพื้นฐานของการให้ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับบางสิ่งที่มีค่ากลับมาแม้ว่าจะไม่ได้คาดหวัง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาได้เติมเต็มคุณค่าบางอย่างให้กับจิตใจพร้อมกับการเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อความยั่งยืนให้กับสังคม

KiNd ยังอยากชวนคุณไปเปิดมุมมองกับคนทำงานที่เอาจริงเอาจังกับการปฏิวัติพฤติกรรมการทิ้งของมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และภาคเอกชนต้นน้ำผู้ขับเคลื่อนธุรกิจที่จำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติ

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องมองไปที่นโยบายการรับมือจากภาครัฐบาลไทยไปจนถึงประชาคมโลกที่มีต่อวิกฤตโรคระบาดนี้ ว่าจะกำหนดทิศทางของประเทศให้ดำเนินไปในรูปแบบใด

KiNd ขอชวนคุณฟังเสียงสัญญาณความยั่งยืนที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งคำถาม ทบทวนนิยาม เปิดมุมมอง รับฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่ และลงมือปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเราเชื่อว่าทุกความคิด เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดแล้ว ต้องลงมือทำอย่างจริงจังเช่นกัน หากเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งต่อตัวเองและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม